ไงแซนโฎนตา (สารทชาวไทยเชื้อสายเขมร)
ไงแซนโฎนตา (สารทชาวไทยเชื้อสายเขมร)
ชาวไทย เชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ มีประเพณีงานบุญเดือน ๑๐ หรืองานสารท เพื่อทำบุญบูชา รำลึก และอุทิศอาหาร ข้าวของเครื่องใช้แก่บรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย หรือบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้วเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนไทยอื่นๆ แต่แตกต่างกันในขั้นตอนพิธีกรรม ปัจจุบันงานแซนโฎนตามีการปฏิบัติกันทั้งในครอบครัว หมู่บ้าน และจังหวัด จะทำพิธีในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี เชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน หรือญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ สมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่อื่นหรือที่แยกครอบครัวจะกลับมาเยี่ยมบ้าน ลูกสาวหรือลูกสะใภ้จะต้องเตรียมของฝาก “กันจือเบ็น” (กระเฌอสำหรับจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้)เป็น เสื้อผ้าเครื่องใช้มาส่งครอบครัวใหญ่ และจะช่วยกันจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ขนม ผลไม้ เสื้อผ้าเครื่องใช้ เพื่อใช้ในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษของครอบครัว
ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ เชื่อว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้วเดินทางมาถึงโลก ชาวไทยเชื้อสายเขมรทุกครอบครัวจะจัดเตรียมตั้งเครื่องเซ่นไหว้ที่บ้าน โดยจัดใส่กันจือเบ็นเพื่อญาติๆ ใช้สำหรับเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การทำพิธีแซนโฎนตาโดยผู้อาวุโสก็จะเรียกถามหาลูกหลาน ญาติพี่น้องว่ามาพร้อมหน้ากันหรือยัง และให้มารวมกัน แล้วจะเริ่มเซ่นไหว้โดยจุดธูปเทียน ยกขันห้าไหว้และต่างก็พูดเรียกดวงวิญญาณบรรพบุรุษให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ แล้วรินน้ำให้ล้างมือ และรินเครื่องดื่ม เช่น เหล้า น้ำอัดลม ฯลฯ ชี้บอกให้รู้ว่ามีเครื่องเซ่นไหว้อะไรบ้าง เสมือนการมารายงานตัวต่อบรรพบุรุษว่าได้มารอต้อนรับแล้ว ในพิธีเซ่นไหว้ใช้เวลาประมาณ ๒๐ –๓๐ นาที เมื่อ ทำพิธีเสร็จแล้วลูกหลานญาติพี่น้องก็จะนำอาหารเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ มารับประทานร่วมกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ลูกหลาน ญาติมิตร เพราะหนึ่งปี มีครั้งเดียว ลูกหลานที่ไปอยู่หมู่บ้านอื่นหรือต่างจังหวัดจะได้รู้จักคุ้นเคยกัน ในช่วงเย็นเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว พร้อมบอกให้วิญญาณบรรพบุรุษไปที่วัดเพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีมอบเครื่องเซ่นไหว้แก่บรรพบุรุษ แล้วกลับมาบ้านเตรียมปูที่นอนและเครื่องใช้สำหรับให้บรรพบุรุษ เชื่อว่าบรรพบุรุษจะค้างที่บ้านในคืนนี้ ก่อนสว่างก็จะทำเรือกาบกล้วย ใส่เงินกระดาษ ขนม อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ และเสื้อผ้าของใช้ขนาดเล็ก จุดธูปเทียนแล้วลอยไปในแม่น้ำ หรือบ่อในบริเวณบ้านเพื่อเป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่ยมโลกก่อนสว่าง หากไม่ทำเรือส่งท่านก็จะกลับไปยมโลกไม่ได้ และจะติดค้างอยู่ในโลกกระทั่งถึงไงแซนโฎนตาอีกรอบนับเป็นการสร้างบาปและความ ทุกข์แก่วิญญาณบรรพบุรุษ
ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เช้าตรู่ชาวไทยเชื้อสายเขมรทุกครอบครัวก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้ไปวัดอีก เพื่อทำบุญอุทิศแก่ผีไม่มีญาติ
ไงแซนโฎนตาเป็นโอกาสที่ญาติๆ ที่อาศัยอยู่ที่อื่นได้กลับบ้านมาเยี่ยมพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้รับพรจากผู้ใหญ่ เป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ทำให้เกิดความรักสามัคคีระหว่างเครือญาติ เกิดความเสียสละ เพราะเครื่องเซ่นไหว้ทุกคนมีส่วนหามา และมีโอกาสช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ไงแซนโฎนตา ถ้าลูกหลานคนใดไม่ได้จัดทำ หรือไม่มาร่วมพิธีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรบรรพบุรุษอาจไม่พอใจ อาจจะโยงเป็นเหตุให้ทำมาหากินไม่ราบรื่น จิตใจเกิดความกังวลไม่เป็นสุข ด้วยความเชื่ออย่างนี้ทุกคนจึงพยายามไปร่วมพิธี หรือไม่ก็จัดเครื่องเซ่นไหว้ที่บ้านของตน
ในจังหวัด สุรินทร์นอกจากชาวไทยเชื้อสายเขมรแล้ว ยังมีชาวไทยกวยหรือกูย และชาวไทยเชื้อสายลาวที่มีประเพณีงานบุญเดือน ๑๐ หรืองานสารทเหมือนกับชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี
นิยามศัพท์เฉพาะ
ไง หมายถึง วัน
แซน หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง
โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีแซนโฎนตา หมายถึง ประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ จัดเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยซึ่งพูดภาษาเขมร มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลานาน
(จำนวนผู้เข้าชม 70063 ครั้ง)