ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมร
ความเป็นมาของภาชนะดินเผา
ภาชนะดินเผา (Pottery) เป็นภาชนะสำหรับบรรจุของเหลวหรือของแข็ง สำหรับใช้บริโภคหรือเก็บสะสมอาหาร เช่น หม้อ ไห จาน ชาม ถ้วย ผลิตขึ้นโดยนำดิน หรือ ดิน หิน ทราย แร่ธาตุต่างๆ มาผสมกับน้ำ ปั้นตามรูปร่างที่ต้องการแล้วเผาให้แข็งตัวคงรูปร่างอยู่ได้
ความสำคัญของภาชนะดินเผา
ภาชนะดินเผาเป็นหลักฐานที่มีประโยชน์มากสำหรับการศึกษาทางด้านโบราณคดี เพราะเราสามารถศึกษารูปร่าง รูปแบบและการตกแต่ง วัสดุที่ใช้ทำ ทำให้ทราบถึงความนิยม วิวัฒนาการของเทคนิคการทำ พิธีกรรมทางศาสนา เส้นทางการติดต่อค้าขายของพ่อค้า อาณาเขตการติดต่อในสมัยโบราณ ฯลฯ
ประเภทของภาชนะดินเผา
๑. วัตถุดินเผา (Terra Cotta) เป็นการเผาที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส ส่วนผสมของดินปั้นที่มีดินเหนียวผสม
๒. ภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthen Ware) เป็นการเผาที่มีอุณหภูมิประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียสเป็นส่วนผสมของดินกับหินฟันม้า ควอทซ์
๓. ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งหรือเนื้อหิน (Stone Ware) เป็นการเผาที่มีอุณหภูมิประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ องศาเซลเซียส เป็นส่วนผสมดินที่มีหินปนอยู่ราว ๕๐%
๔. เครื่องกระเบื้อง (Porcelain) เป็นการเผาที่มีอุณหภูมิประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๕๐ องศาเซลเซียส เป็นส่วนผสมของดินขาว (Koalin) หินฟันม้า หินควอทซ์
หากแบ่งตามการเคลือบผิว ภาชนะดินเผาแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ
๑. ชนิดเคลือบ (Glaze) ส่วนมากจะทำกับภาชนะดินเผาชนิดที่ใช้ไฟแรงสูง เช่น Stoneware หรือ Porcelain
๒. ชนิดไม่เคลือบ (Unglaze) มีตั้งแต่ชนิด Terra Cotta, Earthen Ware และ Stone Ware
วัตถุดินเผา ภาชนะดินเผาเนื้อดิน ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เครื่องกระเบื้อง
ภาชนะดินเผาที่พบในประเทศไทย
ในประเทศไทยได้พบหลักฐานจำพวกภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก มีทั้งแบบเรียบง่ายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน แบบที่มีการตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมหรือเป็นเครื่องใช้สำหรับบุคคลชั้นสูง โดยสามารถแบ่งออกเป็นยุคสมัยต่างๆ ได้ดังนี้
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยวัฒนธรรมเขมร
สมัยสุโขทัย สมัยล้านนา สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์
ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมร
ผลิตขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ นับเป็นภาชนะดินเผาที่มีอายุการผลิตเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสัมพันธ์กับเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยห้าราชวงศ์และสมัยราชวงศ์ซ่ง เชื่อกันว่า แหล่งผลิตในระยะแรกอยู่ในบริเวณที่ราบสูงพนมกุเลนในประเทศกัมพูชา ผลิตเครื่องถ้วยประเภทเคลือบสีเขียวใส เรียกว่า เครื่องถ้วยแบบกุเลน
ภาชนะดินเผาวัฒนธรรมเขมรสามารถจำแนกตามลักษณะของการเคลือบและน้ำยาเคลือบออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
๑. ประเภทเคลือบสีเขียว เป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบแรกสุดที่ผลิตขึ้นในอาณาจักรเขมร มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อาจผลิตจากแหล่งเตาเผาที่พนมกุเลน
๒. ประเภทเคลือบสีน้ำตาล มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ส่วนใหญ่ผลิตจากแหล่งเตาเผาที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
๓. ประเภทเคลือบสองสี เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ทำขึ้นจำนวนไม่มากนัก โดยปากภาชนะจะเคลือบสีเขียวอ่อน ส่วนคอและตัวภาชนะเคลือบสีน้ำตาล น่าจะได้รับแบบอย่างจากจีน
๔. ประเภทไม่เคลือบ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ ได้เกิดภาชนะเนื้อแกร่งที่ไม่เคลือบผิว เรียกว่า ลีเดอแวง (Lie de vin) แปลว่า “ตะกอนของไวน์” ภาชนะมีสีน้ำตาลคล้ายไวน์เก่าในขวด
เคลือบสีเขียว เคลือบสีน้ำตาล เคลือบสองสี
รูปทรงอันหลากหลาย
ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมรมีลักษณะ รูปทรง และลวดลายประดับตกแต่งที่มีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ แต่หน้าที่ใช้สอยของภาชนะเหล่านี้ยังไม่ทราบแน่ชัด จึงอาศัยเทียบเคียงการใช้งานกับภาชนะดินเผาในปัจจุบัน โดยสามารถจำแนกภาชนะจากรูปทรงได้ดังนี้
ตลับ กระปุก ชามหรือถ้วย โถ ขวด
คนโท ไหเท้าช้าง ไห ภาชนะทรงพาน ภาชนะรูปสัตว์
ประโยชน์ใช้สอย
ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมรผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ รวมถึงเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม
ภาชนะดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หุงต้มอาหาร บรรจุน้ำดื่มน้ำใช้ มักเป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบหรือเนื้อแกร่งแบบไม่เคลือบ แต่สำหรับเก็บกักอาหารหรือของเหลวบางอย่างจำเป็นต้องใช้ภาชนะดินเผาแบบเคลือบเพื่อป้องกันการรั่วซึมของของเหลวและแก็สได้ เช่น ไหสีน้ำตาลใช้บรรจุปลาร้า เกลือ น้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำมัน ข้าว พริกไทย ฯลฯ ขวดดินเผาเคลือบอาจใส่น้ำดื่มไว้พกพาหรือใส่สุรา กระปุกขนาดเล็กและตลับ อาจใช้บรรจุเครื่องหอมหรือเครื่องสำอาง ภาชนะรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นก ช้าง กระต่าย พบว่าภายในบรรจุปูน อาจใช้เป็นเต้าปูนกินหมาก
ภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ภาชนะทรงพานอาจใช้ใส่ดอกไม้หรือเครื่องหอม คนโทใช้ในการหลั่งน้ำทำพิธีกรรม โถใช้ใส่เถ้าอัฐิ
ทับหลังสลักภาพพิธีอัศวเมธและภาพสลักบุคคลชายหญิงแสดงภาพภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมร
แหล่งเตาเผา
ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมรส่วนใหญ่คงผลิตจากแหล่งเตาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เนื่องจากมีการค้นพบแหล่งเตาเผาขนาดใหญ่ เช่น แหล่งเตาโคกลิ้นฟ้า อำเภอละหานทราย แหล่งเตานายเจียน แหล่งเตาสวาย อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ แหล่งเตาบ้านสวาย อำเภอเมือง แหล่งเตาบ้านปราสาท บ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ส่วนแหล่งเตาผลิตภาชนะดินเผาในประเทศกัมพูชาพบอยู่หลายแห่ง เช่น บริเวณที่ราบสูงพนมกุเลนและที่พระขรรค์แห่งกำปงสวาย เป็นต้น
แหล่งเตาสวาย อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
แหล่งเตานายเจียน อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
สู่ความนิยม
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (พ.ศ.๑๕๐๑ – ๑๖๐๐) เป็นต้นมา อาณาจักรเขมรได้แผ่อำนาจการปกครองมายังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยได้นำความรู้เรื่องการผลิตภาชนะดินเผาเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ด้วย ดังจะเห็นได้จากการค้นพบแหล่งเตาเผากระจายตัวในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และสุรินทร์
ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมรได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า สามารถควบคุมอุณหภูมิความร้อนในเตาเผาได้อย่างชำนาญ ทำให้ภาชนะดินเผามีความสวยงามและหลากหลาย
กระทั่งในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (ประมาณ พ.ศ.๑๗๕๑ – ๑๘๐๐) การผลิตและการใช้งานภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมรเสื่อมความนิยมลง อันเนื่องมาจาก
๑. อาณาจักรเขมรได้เริ่มเสื่อมอำนาจการปกครอง
๒ ภาชนะดินเผาแบบจีน (สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ) ได้รับความนิยมมากขึ้น
ภาพสลักบริเวณระเบียงปราสาทบายนแสดงการผลิตภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาแบบจีน (ราชวงศ์ซ่งเหนือ)
กระบวนการผลิตภาชนะดินเผา
๑. วัตถุดิบ ในส่วนผสมของเนื้อดินปั้นจะประกอบไปด้วย ดิน (Clay) หินเขี้ยวหนุมาน(Quartz) และหินฟันม้า (Feldspar) นอกจากวัตถุดิบหลักทั้ง ๓ อย่างแล้ว ยังมีส่วนผสมอื่นๆ อีก เช่น ทราย แร่เหล็ก ศิลาแลง และดินขาว
๒. การปั้น เทคนิคการปั้นแบบดั้งเดิมมี ๕ วิธี ได้แก่ การปั้นด้วยมือแบบอิสระ การขึ้นรูปทรงแบบขด การขึ้นรูปทรงแบบแผ่น การกดหรืออัดบนพิมพ์ และการขึ้นรูปทรงโดยใช้แป้นหมุนโดยสังเกตได้จากผิวด้านในของภาชนะดินเผาจะเป็นรอยที่มีลักษณะหมุนเวียนขวาซึ่งเกิดจากการใช้แป้นหมุนนั้นเอง
๓. การตกแต่งผิวภาชนะดินเผา
- การทำลวดลายบนผิวภาชนะ เช่น การตีประทับหรือกดลาย การขูดขีด การแต่งเติมดิน
- การตกแต่งภาชนะผิวเรียบ เช่น การขัดผิว เช็ดหรือลูบผิว ทาผิวด้วยน้ำดินข้น การรมควัน
- การตกแต่งด้วยการเคลือบ เช่น เคลือบสีเขียวใส เคลือบสีน้ำตาลจนถึงสีดำ และการเคลือบสองสีในภาชนะใบเดียวกัน
๔. การเคลือบ
- ภาชนะดินเผาที่เคลือบสีเหลืองนวล น้ำตาลอ่อนจนไปถึงน้ำตาลแก่ เกิดจากส่วนผสมของเหล็กที่มีอยู่ในขี้เถ้า และเหล็กจากวัตถุดิบอื่นที่ผสมในสูตรเคลือบ โดยผ่านการเผาแบบออกซิเดชั่น (Oxidation)คือการเผาไหม้แบบสมบูรณ์
- ภาชนะดินเผาที่เคลือบสีเทา เทาอมเขียว เขียวมะกอก หรือเทาอมฟ้า เกิดจากการเผาแบบ รีดักชั่น (Reduction) คือการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)
๕. การเผา เตาเผามีลักษณะโค้งเป็นรูปไข่ ขนาดความกว้างประมาณ ๑.๕ เมตร ยาวประมาณ ๑๕ เมตร พื้นที่ภายในเตาเผาจะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ช่องใส่ไฟ ห้องวางภาชนะ และปล่องไฟ
ตัวอย่างชื่อเรียกส่วนต่างๆ ของภาชนะดินเผา
ลวดลายตกแต่งบนภาชนะดินเผา
ลายขูดขีดเป็นร่องตื้นๆ เช่น ขีดเป็นเส้นตรงหรือเส้นขนานในแนวนอน ลายกากบาทชั้นเดียว ลายกากบาทสองชั้น ลายซิกแซ็ก ลายเส้นคดโค้ง ลายคลื่น ลายโค้งแบบระย้า ลายรูปสัตว์ เป็นต้น
การปั้นแปะเป็นรูปต่างๆ มักตกแต่งบริเวณไหล่ของภาชนะ เช่น ลายเม็ดพริก
การทำเป็นเส้นนูนขึ้นมาเป็นชั้นๆ มักตกแต่งในบริเวณฐานของภาชนะ
การอนุรักษ์มรดกของชาติ
พื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์มีการขุดพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อครั้งอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนมาถึงยุคประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี(เขมร) สมัยล้านช้าง(ลาว) และปัจจุบันในสมัยรัตนโกสินทร์ ในแต่ละปีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ กรมศิลปากร ได้รับแจ้งจากประชาชนทั้งชาวจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงว่ามีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็น หม้อ ไห ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งกระดูกมนุษย์โบราณเป็นจำนวนมาก ดังนั้นประชาชนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้ระเบียบกฎหมายเบื้องต้นในการปฏิบัติเมื่อพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่มิใช่ทรัพย์สินของตนเอง
ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
๑. ระงับการขุดหรือเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยทันที
๒. แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรที่ใกล้ที่สุดหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ภายใน ๓๖ ชั่วโมง ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และใกล้เคียงสามารถแจ้งได้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
ถ.สุรินทร์-ปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ๓๒๐๐๐
โทรศัพท์/โทรสาร ๐๔๔ ๑๕๓๐๕๔
๓. ให้ข้อมูลเบื้องต้นในการพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ แก่เจ้าหน้าที่ เช่น วัน/เวลา/สถานที่ที่พบ วัตถุสิ่งของที่พบในบริเวณใกล้เคียง ระดับความลึกที่ขุดพบ สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่ขุดพบเป็นต้น
ที่มาและภาพประกอบ
กฤษฎา พิณศรี. การศึกษารูปแบบศิลปะและคติความเชื่อในงานเครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมเขมรใน
ประเทศไทย. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
พัชรี สาริกบุตร. เทคโนโลยีสมัยโบราณ: เครื่องมือหิน งานโลหะ เครื่องปั้นดินเผา แก้ว และลูกปัดแก้ว.
กรุงเทพฯ:ภาควิชาโบราณคดี, คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓
ศิลปากร, กรม. คู่มือพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, กรุงเทพ: บริษัท สำนักพิมพ์
สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๔๘
ศิลปากร, กรม. เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเผาจังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพ: บริษัท หิรัญพัฒน์ จำกัด, ๒๕๓๒
ศิลปากร, กรม. เซระมิคส์ในประเทศไทย ชุดที่ ๔ : เตาบ้านกรวด บุรีรัมย์. กรุงเทพ:
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๓๒
ศิลปากร, กรม. โบราณคดีวิเคราะห์ ๒ : เครื่องถ้วยบุรีรัมย์และเครื่องถ้วยสุโขทัย. กรุงเทพ:
โรงพิมพ์ดอกเบี้ย, ๒๕๓๙
คุณกมลวรรณ นิธินันทน์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เอื้อเฟื้อภาพประกอบ
http://www.oknation.net/blog/voranai/2011/12/11/entry-1
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=22&chap=2&page=t22-2-
infodetail11.html
http://hoainiemtayninh.blogspot.com/2015/07/en-bayon-campuchia.htmlhttps://www.backstreetacademy.com/blog/5-national-geographic-documentaries-we-would-
love-to-see-in-southeast-asia/
http://www.chinaonlinemuseum.com/ceramics-song.php
(จำนวนผู้เข้าชม 15878 ครั้ง)