...

เมืองโบราณยะรัง EP.3 "เมืองโบราณยะรัง : การดำเนินงานทางโบราณคดี”
เมืองโบราณยะรัง EP.3 : การดำเนินงานทางโบราณคดี
 
องค์ความรู้ตอนที่ 3 ที่นำเสนอในวันนี้มีชื่อว่า "เมืองโบราณยะรัง : การดำเนินงานทางโบราณคดี”
 
การสำรวจ
 
การสำรวจของนายอนันต์ วัฒนานิกร
พ.ศ.2505 นายอนันต์ วัฒนานิกร ศึกษาธิการอำเภอยะรังในสมัยนั้น เริ่มเข้าสำรวจร่องรอยของโคกเนินต่างๆที่สันนิษฐานว่าจะเป็นโบราณสถาน โดยมีผู้ช่วย 2 คนคือนายเจิม ชูมณี และนายพรหม ทุเรศพล
“...ขณะนั้นยังสังเกตเห็นแนวกำแพงเมืองเป็นเนินดินสูง 2-3 เมตร ขนานไปกับคูน้ำ กำแพงชั้นในวัดขนาดได้ 590 เมตร ชั้นนอก 860 เมตร มีป้อมตรงมุมทั้งสี่ ซากโบราณสถานมีกระจายไปทั่วอยู่ในเขตที่ทำกินของราษฎร...” 
นายพิพัฒน์ พงศ์รพีพร ได้สัมภาษณ์นายอนันต์ วัฒนานิกร ในระหว่างพ.ศ.2525-2528 และได้จดบันทึกเรื่องตำแหน่งของโบราณสถานจากการสำรวจของนายอนันต์ วัฒนานิกร ระหว่างพ.ศ.2505-2516 ซึ่งได้กำหนดที่ตั้งของโบราณสถานไว้เป็นหมายเลขจำนวน 31 แห่ง
การสำรวจของ Stewart Wavell
ในช่วงฤดูร้อนของพ.ศ.2505 Stewart Wavell นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้เดินทางไปสำรวจเมืองโบราณยะรังซึ่งปรากฎข้อมูลว่ามีผู้ร้ายทำการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุตามเนินโบราณสถาน โดยในขณะที่เขาอยู่ในเมืองปัตตานีได้มีผู้นำเทวรูปพระวิษณุสำริดซึ่งอ้างว่าขุดได้จากเนินโบราณสถานในเมืองโบราณยะรังมาให้ชม และต่อมาเขาได้เดินทางไปยังเมืองยะรัง
การสำรวจของนายมานิต วัลภิโภดม และนายจำรัส เกียรติก้อง
พ.ศ.2507 นายมานิต วัลภิโภดม นายจำรัส เกียรติก้อง และคณะสำรวจจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้เข้ามาทำการสำรวจและจัดทำแผนผังเมืองโบราณยะรังในบริเวณบ้านประแว โดยแผนผังที่เขียนขึ้นแสดงภาพของเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 300 เมตร ยาว 340 เมตร มีกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบสามชั้น และในแผนผังยังแสดงตำแหน่งของ “ซากเจดีย์” ซึ่งปรากฏกระจายอยู่ทางด้านทิศใต้ของบ้านประแว และกระจุกตัวหนาแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ในบริเวณบ้านวัด 
การสำรวจของ H.G.Quaritch Wales
ในพ.ศ.2517 H.G.Quaritch Wales ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ลังกาสุกะและตามพรลิงค์และการจดบันทึกบางสิ่งทางโบราณคดี” โดยกล่าวว่าเขาและภรรยา ได้เดินทางมายังเมืองโบราณยะรัง พร้อมกับนายบันเทิง พูลศิลป์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กรมศิลปากร โดยมีนายอนันต์ วัฒนานิกร ศึกษาธิการอำเภอยะรังในขณะนั้นเป็นผู้นำทาง
การสำรวจของชูสิริ จามรมาน
นางสาวชูสิริ จามรมาน อาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนจากมูลนิธิจิม ทอมป์สัน เพื่อทำการวิจัยเรื่อง “การวิจัยข้อมูลทางศิลปะและโบราณคดี ณ เมืองโบราณที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์” ได้ทำการวิจัยระหว่างพ.ศ.2521-2523 โดยทำการสำรวจใน 2 ช่วงเวลา ดังนี้
การสำรวจระยะที่ 1 เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2521 โดยร่วมสำรวจกับเจ้าหน้าที่กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากร ได้ทำการสำรวจที่บ้านปาละแว และบ้านวัด เพื่อเลือกจุดที่จะตรวจสอบหลักฐานบนดินและใต้ดินด้านการเจาะสำรวจ และได้เดินทางไปกิ่งอำเภอไม้แก่น เพื่อเลือกจุดสำรวจและเจาะสำรวจในบริเวณที่มีโคกดินลักษณะคล้ายๆกันกับที่อำเภอยะรัง 
การสำรวจระยะที่ 2 เริ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2523 เป็นการเดินสำรวจอย่างละเอียดด้วยการเดินทั้งในและนอกบริเวณที่มีคันดินซึ่งเคยเป็นกำแพงเมืองโบราณ จากนั้นจึงทำการสำรวจในบริเวณนอกเมืองโบราณที่บ้านปาละแว
การสำรวจของนายศรีศักร วัลลิโภดม
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2521 นายศรีศักร วัลลิโภดม เดินทางไปสำรวจเมืองโบราณยะรังบริเวณบ้านประแว โดยมีนายอนันต์ วัฒนานิกร เป็นผู้นำทางไปยังตำแหน่งโบราณสถานต่างๆทั้งในและนอกเมือง
“...ก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่าเมืองประแวที่ทางกรมศิลปากรเคยสำรวจไว้ว่าเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบสามชั้นนั้น เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เมืองนี้ตัวเมืองมีขนาดเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงและคูน้ำชั้นเดียว ไม่มีล้อมรอบสามชั้นแต่อย่างใด แต่เผอิญทางด้านทิศใต้นั้นเกิดมีคันดินสองเส้นตัดผ่านจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก ขวางหน้าก่อนที่จะเข้าไปถึงกำแพงเมือง คันดินสองสายนี้ดูเชื่อมกับลำน้ำเขาที่ไหลเลียบตัวเมืองลงมาทางตะวันตก เพื่อระบายน้ำผ่านไปลงที่ลุ่มต่ำทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทางกรมศิลปากรเดินสำรวจเพียงด้านเดียวคือด้านใต้จึงมองเห็นเป็นว่าเมืองนี้มีคันกำแพงดินล้อมรอบสามชั้นไป…”
“...ข้าพเจ้าจัดกลุ่มโบราณสถานที่พบในเขตอำเภอยะรังนี้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่อยู่ในเขตบ้านประแว หรือที่เรียกว่าเมืองประแวนั่นเอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือเขตบ้านวัด ซึ่งห่างจากกลุ่มแรกไปประมาณ 3-4 ก.ม....”
การสำรวจของโครงการโบราณคดีประเทศไทย(ภาคใต้)
โครงการโบราณคดีประเทศไทย(ภาคใต้) กรมศิลปากร ดำเนินการสำรวจพื้นที่เมืองโบราณยะรังในพ.ศ.2528 โดยใช้วิธีเดินสำรวจภาคพื้นดิน ประกอบกับแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ และจัดทำแผนผังโดยใช้กล้องธีโอโดไลห์ ผลการดำเนินงานได้กำหนดตำแหน่งที่ตั้งพร้อมระบุเลขประจำเนินโบราณสถานจำนวน 30 แห่ง
“...ลักษณะของเมืองโบราณนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หันไปตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนาดกว้าง 550 เมตร ยาว 710 เมตร กำแพงเมืองชั้นเดียวทำด้วยดินและมีคูน้ำล้อมรอบ ที่มุมทั้ง 4 มีป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเมืองยังมีแนวกำแพงและคูน้ำ จากแนวกำแพงเมืองทางด้านตะวันตกและทางทิศใต้ไปบรรจบกันภายในเมืองอีกด้วย ทางด้านทิศใต้เป็นแนวคันดินและคูภายในเมืองเชื่อมต่อกับทางน้ำเก่า ซึ่งปัจจุบันปรากฏเพียงด้านเดียวเท่านั้น ส่วนด้านอื่นๆมีทางน้ำเก่าและได้ถูกปรับพื้นที่เป็นที่นาเสียส่วนใหญ่ คันดินนี้นี่เองทำให้หลายคนเข้าใจว่าเมืองโบราณยะรังเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีกำแพงและคูเมือง 3 ชั้น ระหว่างคันดินกำแพงเมืองมีหนองน้ำขนาดใหญ่และโบราณสถานอยู่ 2 แห่ง ส่วนภายในเมืองนั้นมีบ้านราษฎรอยู่ประมาณ 40 หลังคาเรือน มีบ่อน้ำโบราณอยู่ 7 แห่ง ทางด้านทิศใต้นอกกำแพงเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1 สระ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างยาว 70 เมตร สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของเมืองโบราณยะรังนั้น เป็นที่ทำสวนเสียส่วนมาก โดยเฉพาะสวนยาง สวนส้ม สวนเงาะ สวนทุเรียน และสวนกล้วย เป็นต้น โบราณสถานบริเวณเมืองโบราณยะรังและใกล้เคียงนั้นมีด้วยกัน 29 แห่ง อยู่ในเขตบ้านประแว 11 แห่ง เขตตำบลวัด 11 แห่ง และเขตตำบลปิตูมุดี 7 แห่ง...” 
การสำรวจของโครงการวิจัยเกี่ยวกับรัฐพาณิชย์นาวีสมัยศรีวิชัยในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี ศึกษากรณีชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบในเขตเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 1
โครงการสำรวจนี้เป็นการดำเนินการภายใต้หน่วยงานคือศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ตประเทศไทย จำกัด ดำเนินการสำรวจโดยสว่าง เลิศฤทธิ์ นายเดวิด เจ เวลซ์ นางจูดิท มิกนีลล์ และนางสาวนันทิยา หนูสอน David J. Welch ระหว่างเดือนเมษายน 2529 ถึงเดือนเมษายน 2530 โดยทำการสำรวจด้วยกล้องธีโอโดไลท์และเทปวัดระยะในพื้นที่บ้านประแวและบ้านวัด
การสำรวจของโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี
โครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ตั้งขึ้นในพ.ศ.2531 เป็นโครงการในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กองโบราณคดี กรมศิลปากร การสำรวจโดยโครงการฯได้ดำเนินการสำรวจโดยการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและดำเนินการสำรวจภาคพื้นดิน ในระหว่างพ.ศ.2531-2532 และในพ.ศ.2535 ได้จัดพิมพ์หนังสือ “การสำรวจโบราณสถานเมืองยะรัง” นำเสนอผลการสำรวจและรายละเอียดของโบราณสถานที่สำรวจพบทุกแหล่ง ทั้งในเขตบ้านประแว บ้านจาเละ และบ้านวัด 
เนินโบราณสถานจากการสำรวจของโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง
(พ.ศ.2531-2532)
โครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ดำเนินการสำรวจเมืองโบราณ ยะรังอีกครั้งในระหว่างพ.ศ.2531 – 2532 ในครั้งนี้ได้กำหนดการเรียกชื่อเนินโบราณสถานใหม่ โดยจำแนกเนินโบราณสถานออกเป็น 3 กลุ่มตามตำแหน่งที่ตั้ง คือ กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ และกลุ่มโบราณสถานบ้านประแว
กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด ใช้อักษรย่อว่า บว.บ. มีเนินโบราณสถานจำนวน 20 แห่ง
กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ ใช้อักษรย่อว่า จล.บ. มีเนินโบราณสถานจำนวน 11 แห่ง
กลุ่มโบราณสถานบ้านประแว ใช้อักษรย่อว่า บว.บ. มีเนินโบราณสถานจำนวน 2 แห่ง
การขุดค้นทางโบราณคดี
-----------------------------------
พื้นที่เมืองโบราณยะรัง ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนักวิชาการชาวไทย และชาวต่างประเทศ โดยในระยะแรกการขุดค้นมักอยู่ในลักษณะของการขุดตรวจหรือขุดทดสอบ รวมถึงการขุดสำรวจโดยใช้เครื่องมือเจาะดินที่เรียกว่าออเกอร์ 
ส่วนการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณที่เป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่นั้น เริ่มดำเนินการในพ.ศ.2531 โดยโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ของกรมศิลปากร โดยเริ่มทำการขุดค้นเนินโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 เป็นแห่งแรกในพ.ศ.2531 ขุดค้นเนินโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 2 และหมายเลข 8 ในพ.ศ.2535 และขุดค้นเนินโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9 ในพ.ศ.2546
การขุดค้นของ H.G.Quaritch Wales
ในพ.ศ.2517 บทความเรื่อง “ลังกาสุกะและตามพรลิงค์และการจดบันทึกบางสิ่งทางโบราณคดี” ของ H.G.Quaritch Wales กล่าวถึงการขุดค้นทางโบราณคดีในลักษณะของหลุมยาว (Trench) จำนวน 2 หลุม ในพื้นที่ภายในเมืองประแวด้านทิศใต้ ผลการขุดค้นไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ
การขุดค้นของชูสิริ จามรมานและคณะ
เป็นการดำเนินการของนางสาวชูสิริ จามรมาน อาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิจิม ทอมป์สัน เพื่อทำการวิจัยเรื่อง “การวิจัยข้อมูลทางศิลปะและโบราณคดี ณ เมืองโบราณที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์” ซึ่งทำการวิจัยระหว่างพ.ศ.2521-2523 และการวิจัยเรื่อง “สมัยศิลปะที่ยะรัง เมืองโบราณในจังหวัดปัตตานี” ซึ่งทำการวิจัยระหว่างพ.ศ.2523-2524
การขุดค้นของโครงการวิจัยเกี่ยวกับรัฐพาณิชย์นาวีสมัยศรีวิชัยในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานี ศึกษากรณีชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบในเขตเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 1
การขุดค้นทางโบราณคดีในระหว่างพ.ศ.2529 – 2530 นี้เป็นการดำเนินการในโครงการโครงการวิจัยเกี่ยวกับรัฐพาณิชย์นาวีสมัยศรีวิชัยในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปัตตานีฯ ภายใต้หน่วยงานคือศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีนายสว่าง เลิศฤทธิ์ Dr.David J. Welch และ Ms.Judith R.Mcniell เป็นผู้ดำเนินโครงการ
สรุปผลการศึกษา
1.บ้านประแว ผลการการขุดค้นและขุดตรวจด้วยออเกอร์แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีบ้านประแวมีอายุไม่มากนักดังที่ศรีศักร วัลลิโภดม เคยกล่าวไว้ โบราณวัตถุที่พอจะกำหนดอายุได้ก็มีเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงและเศษเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินที่มีลวดลายประดับสมัยอยุธยา หลังจากส่งตัวอย่างถ่านไปหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติพบว่าโบราณวัตถุในชั้นดินที่ 2 มีอายุประมาณ 300 ปี ชั้นดินที่ 3 มีอายุประมาณ 500 ปี ในขณะที่ชั้นดินที่ 4 ซึ่งอยู่ล่างสุดพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินสีเทาดังเช่นที่พบที่สทิงพระ แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีบ้านประแวมีอายุเก่าสุดอยู่ที่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 จึงสรุปได้ว่าเมืองแห่งนี้เป็นเมืองขนาดเล็ก ไม่มีฐานะหรือบทบาทสำคัญนัก โดยมีกลุ่มชนเข้ามาอยู่อาศัยครั้งแรกประมาณสมัยศรีวิชัยตอนปลาย และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างป้อมที่มุมเมือง ซึ่งหลักฐานต่างๆแสดงให้เห็นถูกสร้างขึ้นในสมัยประวัติศาสตร์ราวปี 1790-1791 ซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ระบุว่าปัตตานีมีการย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่บ้านประแวในสมัยรัชกาลที่ 1
2.บ้านวัด จากการศึกษาพบว่าเมืองแห่งนี้มีขนาดใหญ่ (อย่างน้อย 60 ตารางเมตร) และมีคูเมืองซับซ้อนมาก มีเนินเจดีย์ 16 แห่ง มีเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 แห่ง ผลการขุดค้นของนักโบราณคดีจากกรมศิลปากรได้พบโบราณวัตถุหนาแน่นกว่าที่บ้านประแว จากการขุดค้นยังทำให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีผ่านการใช้งานมาอย่างน้อย 2 ช่วง เพราะชั้นดินทางโบราณคดีจะเห็นถึงความแตกต่างได้ชัด โบราณวัตถุที่พบก็ต่างสมัยกันด้วย โบราณวัตถุในชั้นดินล่างสุดอาจจะเป็นของสมัยทวารวดีส่วนโบราณวัตถุในชั้นดินบนอยู่ในสมัยหลังก็เป็นได้ และการขุดค้นที่หลุมขุดค้นแห่งหนึ่งบนเนินดินชั้นในพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเศษอิฐและเศษภาชนะดินเผา ชั้นดินชั้นล่างสุดที่ทำการขุดค้นอาจจะเป็นฐานเจดีย์เพราะพบแนวอิฐและก้อนอิฐมีรู โบราณวัตถุที่พบร่วมกับแนวอิฐคือเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง? อย่างไรก็ตามเมื่อผลการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายออกมา ก็คงจะทราบอายุของโครงสร้างแนวอิฐนี้ แต่สันนิษฐานว่าอาจจะมีอายุอย่างน้อย 1,000 ปี มาแล้ว 
การขุดค้นของโครงการศึกษาการตั้งถิ่นฐานเมืองปัตตานีโบราณ (The old settlement of The Pattani Region)
โครงการศึกษาการตั้งถิ่นฐานเมืองปัตตานีโบราณเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา กับสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ(Ecole Francaise d’Etreme-Orient) และสถาบันวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยกำหนดเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่มต้นโครงการในพ.ศ.2540 สำหรับการศึกษาในพ.ศ. 2541 เป็นการดำเนินการในปีที่ 2 ของโครงการ ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณบ้านประแว โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำการศึกษาถึงความต่อเนื่องของการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณบ้านประแวกับชุมชนโบราณบ้านกรือเซะว่ามีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันหรือไม่อย่างไร ตามสมมุติฐานที่เชื่อว่ากลุ่มชนบริเวณบ้านกรือเซะนั้นย้ายมาจากบ้านประแว 
สรุปผลการขุดค้น
ผลของการขุดค้นทางโบราณคดีในพ.ศ.2541 ทำให้เห็นถึงพื้นดินที่ถูกรบกวนในทุกๆหลุมขุดค้น ยกเว้นในหลุมขุดค้น PW.3 ซึ่งพบเศษภาชนะดินเผาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเศษภาชนะดินเผาที่พบในหลุมขุดค้นอื่นๆ ซึ่งก็เป็นได้ว่าอาจเป็นเพราะเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มาจากช่วงเวลาที่ต่างกัน และการวิเคราะห์โดย Mrs.M.F.Dupoizat พบว่า เศษภาชนะดินเผาที่พบเกือบทั้งหมดนี้กำหนดอายุในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20
.
.
.
ในส่วนของ Ep.4 เมืองโบราณยะรัง : โบราณสถานและโบราณวัตถุชิ้นพิเศษ โปรดติดตามในตอนต่อไป..
---------------------------
Ep.1 เมืองโบราณยะรัง : เมืองโบราณสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
https://www.facebook.com/fad11songkhla/posts/628320109334790
Ep.2 เมืองโบราณยะรัง = ลังกาสุกะ?
https://www.facebook.com/fad11songkhla/posts/pfbid023vs8jRqA2iqonHKfjBgCMWEC6GfQLWyYHFy8ogMX3RVt1UG1uy2pSNVxkd2s9BT6l
Ep.3 เมืองโบราณยะรัง : การดำเนินงานทางด้านโบราณคดี
Ep.4 เมืองโบราณยะรัง : โบราณสถานและโบราณวัตถุชิ้นพิเศษ
EP.5 เมืองโบราณยะรัง : การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ (Li-DAR)
Ep.6 เมืองโบราณยะรัง : การศึกษาชายฝั่งทะเลโบราณอ่าวปัตตานี
--------------------
เอกสารอ้างอิง
หน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา, ความเป็นมาของเมืองโบราณยะรังโดยสังเขป, 2531 หน้า 7 (อัดสำเนา)
เขมชาติ เทพไชย, รายงานการสำรวจขุดค้นทางด้านโบราณคดี บริเวณเมืองโบราณยะรังและใกล้เคียง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี, (สงขลา : โครงการโบราณคดีประเทศไทย(ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2528), 9-10 (เอกสารอัดสำเนา)
ชูสิริ จามรมาน, รายงานผลการวิจัยเรื่องการวิจัยข้อมูลทางศิลปะและโบราณคดี ณ เมืองโบราณที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์, (นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม, 2528), 6
ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้, “บันทึกเรื่องเมืองโบราณที่อำเภอยะรัง” ใน แลหลังเมืองตานี, (ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2528), 18
Stewart Wavell, “The Lady from Langkasuka” in The Naga King’s Daughter, (London : George Allen & Unwin Ltd., 1964), 15
Ibid, 158 
ศรีศักร วัลลิโภดม, “ชุมชนโบราณในสี่จังหวัดภาคใต้”, เมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม2521-มกราคม2522) หน้า 49
เรื่องเดียวกัน, 48

(จำนวนผู้เข้าชม 2712 ครั้ง)


Messenger