ลักษะแมวมงคลตามตำรา
จะเป็นอย่างไรหากแมวมงคลตามตำรา กระโดดออกจากหน้าเอกสารโบราณไปปรากฏตัวตามมุมต่าง ๆ ในบ้านของเรา วาเลนไทน์ปีนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ขอเอาใจนักรัก (แมว) ทั้งหลายด้วยชุดข้อมูลส่วนหนึ่งจากเอกสารโบราณ ในองค์ความรู้เรื่อง "สรุปความลักษณะแมวมงคลตามตำรา"
โบราณวัตถุ : สมุดไทยขาว หรือหนังสือบุดขาว
ลักษณะ : เรื่องตำราดูดาวประจำเมืองต่าง ๆ ตำราดูพระอาทิตย์ พระจันทร์ เมฆ ตำราดูลักษณะแมวและสุนัข
อายุสมัย : สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25
ที่มา : รับมอบจาก นายเจตนา ณ สงขลา
ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ความเชื่อแต่โบราณนานมา ระบุว่าให้นรชนผู้มีปัญญา เร่งแสวงหาแมวที่มีลักษณะมงคลตามตำรามาเลี้ยงไว้ข้างกายซึ่งหากเลี้ยงดูไว้อย่างดี จะช่วยส่งเสริมทั้งบารมี การค้าขาย และทรัพย์สินเงินทอง โดยสามารถถอดแบบและสรุปความลักษะแมวมงคลตามตำราฉบับนี้ไว้ได้ 8 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย
1. วิลาศ
แมวใดหน้าผากสีขาว สองหู ท้อง หลังตลอดจนหาง และทั้ง 4 เท้า มีสีขาวดุจสำลี เป็นแมวดี มีค่า แมวนั้นอยู่เรือนใคร จะให้โชคลาภ ค้าขายได้กำไร พืชผลไร่นาอุดมสมบูรณ์
2. นิลรัตน์ (สีดำปลอด)
แมวใดสีดำล้วน ทั้งลิ้น ฟัน ตลอดจนดวงตามีสีดำสนิทดุจอัญมณี มีชื่อเป็นมงคลว่านิลรัตน์ หากใครเลี้ยงไว้จะได้ดี ได้เป็นเศรษฐี และเติบโตในหน้าที่การงาน
3. ศุภลักษณ์ (สีทองแดง)
แมวใดดูงามพร้อมสีทองแดง หากเลี้ยงไว้ จะมากด้วยทรัพย์สินเงินทอง และลาภยศสรรเสริญ รับราชการจะเจริญก้าวหน้า
4. มาเลศ (สีสวาด)
แมวใดสีขนงามตาดั่งดอกเลา นัยน์ตาสวยงามดั่งหยดน้ำค้าง หากได้มาเลี้ยงไว้ข้างกาย จะเสริมเมตตามหานิยม คิดทำสิ่งใดก็จะราบรื่น ประสบความสำเร็จ
5. นิลจักร (คอด่างรอบ)
แมวใดลำตัวสีดำ มีสีด่าง (ขาว) รอบคอดูสวยงาม หากเลี้ยงไว้ หน้าที่การงานจะเจริญก้าวหน้า ทรัพย์สินเงินทองจะเพิ่มพูน
6. อานม้า
แมวใดมีลักษณะหลังด่าง คล้ายอานม้า ใบหน้าด่างดูสวยงาม เป็นแมวที่มีค่ามาก ราคาสูงเปรียบได้แสนตำลึงทอง หากอยู่เรือนใคร บุตรหลายจะเติบโตเป็นเจ้าคนนายคน ทรัพย์สมบัติจะมากเหลือหลาย
7. การเวก
แมวใดที่มีจมูกด่าง เสมือนผู้เลี้ยงได้ของมีค่า เปรียบได้กับดาบทอง หากได้มาเลี้ยงจะให้โชคให้ลาภ และสมหวังในความปรารถนาใน 7 เดือน
8. ปัดเสวตร
แมวใดที่มีลักษณะด่างกลางหลัง ตั้งแต่หัวจรดหาง เลี้ยงไว้จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ส่งเสริมเกียรติยศและนำชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล
ถอดแบบแมวเหมียว : จุฑาทิพย์ สวัสดี สาขาการจัดการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
กราฟฟิก/ เรียบเรียง : ธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ตรวจความถูกต้อง : จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา
(จำนวนผู้เข้าชม 5108 ครั้ง)