โบราณวัตถุชิ้นเด่น ชามเบญจรงค์พร้อมฝา
"ชวนชม" โบราณวัตถุสวย ๆ งาม ๆ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
..................................................................................
ชามเบญจรงค์พร้อมฝา
วัสดุ: ดินเผาเคลือบ
ขนาด: ปากกว้าง 20 เซนติเมตร สูง 12.5 เซนติเมตร
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25
..................................................................................
ชามเบญจรงค์พร้อมฝาลักษณะเป็นเครื่องถ้วยประเภทเนื้อดินเผาเคลือบสีขาว ตัวชามปากกว้าง ขอบปากผาย ก้นลึก ใต้ก้นมีเชิงสั้นตัวฝาปิดมีลักษณะคล้ายชาม และมีขอบเชิงสำหรับจับ เมื่อนำฝามาครอบ ตัวฝาจะต่ำกว่าขอบปากเล็กน้อยด้านในชามสีขาวไม่มีลวดลาย ด้านนอกตกแต่งด้วยการเขียนสีลายน้ำทองรูปดอกเหมยสีชมพู และเขียนอักษรจีนในวงกลม บริเวณด้านข้างของชามและฝา สภาพขอบปากบิ่น และมีรอยร้าว
อักษรจีนดังปรากฏบนชามเบญจรงค์พร้อมฝาชุดนี้ คือตัวอักษรซิ่ว (Shou) เป็นการเขียนลายแบบสัญลักษณ์อักษรภาพโบราณ สื่อถึงการอวยพรให้มีอายุวัฒนะ และลายดอกเหมยที่ปรากฏบนชามฝาเบญจรงค์ตามความเชื่อของชาวจีนนั้น เป็นดอกไม้ที่มีความสวยงามอีกทั้งยังทนต่อสภาพอากาศ เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่ผลิบานในช่วงฤดูหนาว จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของความคงทน และความยั่งยืน
โดยปกติแล้วตัวอักษรจีนไม่ค่อยเป็นที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ กระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา เริ่มมีการปรับเปลี่ยนลวดลายให้เหมาะสมตามยุคสมัย ชามจำนวนหนึ่งที่ผลิตในช่วงระยะหลัง ๆ จึงเริ่มปรากฏลายอักษรภาพโบราณตามภาชนะหรือก้นภาชนะ ซึ่งจะเขียนลายในรูปแบบสัญลักษณ์มงคลจีน
..................................................................................
เรียบเรียง/กราฟฟิก : ฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
..................................................................................
อ้างอิง: ดอว์น เอฟ. รูนีย์. “เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง.” กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์, 2560.
ดาวน์โหลดไฟล์: ชามเบญจรงค์พร้อมฝา1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ชามเบญจรงค์พร้อมฝา2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ชามเบญจรงค์พร้อมฝา3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ชามเบญจรงค์พร้อมฝา4.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 1910 ครั้ง)