โบราณวัตถุชิ้นเด่น: พระพุทธรูปลีลา
สำริด ลงรักปิดทอง ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙- ๒๐ พบในเมืองโบราณสุโขทัย นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร ก่อนนำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๐๖ พระพุทธรุปแสดงอิริยาบถเดินโดยพระบาทซ้ายก้าวไปข้างหน้า พระบาทขวายกส้นพระบาทขึ้นเล็กน้อย ประทับบนฐานรูปดอกบัวหงาย รองรับด้วยฐานแปดเหลี่ยม ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นในท่าประทานอภัย พระหัตถ์ขวาทอดลงข้างพระวรกาย พระพุทธรูปลีลานับเป้ฯงานสร้างสรรค์ประติมากรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปะสุโขทัย เป็นการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ตามคตินิยมเรื่อง “มหาบุรุษลักษณะ”ที่มีความงามตามอุดมคติอย่างแท้จริงโดยมีลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเรียวเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์เรียวเล็กบาง พระหนุเป็นปม พระรัศมีรุปเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาขนาดเล็ก พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียงบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ
พระพุทธรูปลีลาลอยตัวนี้น่าจะหมายถึง พุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากพระพุทธองค์โปรดพระพุทธมารดาแล้ว พระองคืเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงมาทางบันไดแก้วซึ่งอยู่ระหว่างที่กลางพระอินทร์และพระพรหม ลงมาตามบันไดทองและบันไดเงิน ซึ่งเมื่อสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัวจึงปรากฏเพียงรูปของพระพุทธองค์ในลักษณะก้าวเดินโดยไม่มีฉากประกอบ นอกจากนั้นในการสร้างพระพุทธรูปลีลาลอยตัว ยังแสดงถึงเทคนิคขั้นสูงในการหล่อโลหะในช่วงยุคทองของการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทอีกด้วย
พระพุทธรูปลีลาลอยตัวนี้น่าจะหมายถึง พุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากพระพุทธองค์โปรดพระพุทธมารดาแล้ว พระองคืเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงมาทางบันไดแก้วซึ่งอยู่ระหว่างที่กลางพระอินทร์และพระพรหม ลงมาตามบันไดทองและบันไดเงิน ซึ่งเมื่อสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัวจึงปรากฏเพียงรูปของพระพุทธองค์ในลักษณะก้าวเดินโดยไม่มีฉากประกอบ นอกจากนั้นในการสร้างพระพุทธรูปลีลาลอยตัว ยังแสดงถึงเทคนิคขั้นสูงในการหล่อโลหะในช่วงยุคทองของการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทอีกด้วย
(จำนวนผู้เข้าชม 2042 ครั้ง)