พระพุทธรูปปูนปั้น
พระพุทธรูปปูนปั้น
ปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย (หมวดวัดตระกวน) พุทธศตวรรษที่ ๑๙
พบในพระอุระของพระพุทธรูปปูนปั้นที่วัดพระพายหลวง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ส่วนองค์พระพุทธรูปเหลือเฉพาะพระวรกายส่วนบนรัศมีชำรุดหักหายลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่งเป็นวงโค้ง พระโอษฐ์ล่างหนา พระหนุเป็นปมเด่นชัด มีปล้องพระศอสามชั้น ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฎิสั้นเหนือพระถัน ปลายเป็นรอยพับทบปรากฎร่องรอยของสีแดงบนส่วนของจีวรและสังฆาฎิ เศียรและองค์ท่อนบนของพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ พบอยู่ในพระอุระที่แตกปริออกของพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ (ปัจจุบันคงเหลือแต่เศียร) ประดิษฐานอยู่ในปรางค์องค์กลางในบรรดาปรางค์ ๓ องค์ของวัดพระพรายหลวง
จึงทำให้สันนิฐานได้ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นที่สักการบูชามาก ครั้นเวลาผ่านไปแตกหักลงเหลือแต่ส่วนเศียรและองค์ท่อนบน พุทธศาสนิกชนสุโขทัยก็มิได้ทิ้งขว้างแต่สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อนำพระพุทธรูปองค์เล็กที่เหลืออยู่เพียงส่วนเศียรและองค์ท่อนบนมาบรรจุไว้ภายใน เมื่อกราบไหว้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ก็เท่ากับได้กราบไหว้บูชาพระพุทธรูปองค์ที่บรรจุอยู่ภายในด้วย
ที่มาของข้อมูล :
แผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ข้อมูลนำชมโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ผ่าน QR code
จัดทำโดย นางสาวสาธิตา วรรณพิรุณ
คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม
ชั้นปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา ตาก
โครงการสหกิจศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๖๓
(จำนวนผู้เข้าชม 2560 ครั้ง)