เนื่องในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ ๒๓๘ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แม้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) จะทำให้รัฐบาลต้องประกาศงดเว้นกิจกรรมทางสังคม เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.รัตนโกสินทร์.com เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ เรื่องราวประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ในอดีต ภายใต้หัวข้อ “ใต้ร่มพระบารมี ๒๓๘ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ : ราชอารยรัฐ รัตนโกสินทร์ รัฐอันเจริญรุ่งเรืองมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ง่ายขึ้นและถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลอีกด้วย แต่หากย้อนไปในอดีต เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๕ ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เพื่อดำเนินงานและแต่งตั้งให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ เพื่อจัดกิจกรรมสืบเนื่องตลอดทั้งปีมหามงคลนั้น จัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๔-๒๑ เมษายน ๒๕๒๕ มีการจัดกิจกรรมด้านพระราชพิธีและงานสมโภชน์ต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีบวงสรวงบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระราชพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช พระราชพิธีสมโภชหลักเมือง พระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติ ฉัตรมงคล การเฉลิมฉลองงานสมโภชน์ การตกแต่งประทีปโคมไฟตามสถานที่ต่าง ๆ การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วประเทศ การบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงการสร้างอนุสรณ์สถานและสิ่งของที่ระลึกประกอบในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ดังที่ปรากฏข้อมูลรายละเอียดในหนังสือจดหมายเหตุงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
ส่วนเอกสารจดหมายเหตุที่จัดเก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงระหว่างงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ประกอบด้วย เอกสารจดหมายเหตุ ชุดที่ ๑ ภาพถ่ายจากกองงานโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ร่วมชมพิธีการซักซ้อมกระบวนพยุหยาตราชลมารค ตามหมายกำหนดการแรกในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จประทับที่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และ โปรดเกล้าฯ ให้จัดเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือเชิญพระชัย (หลังช้าง) และเป็นเรือนำไปในกระบวน แต่จากภาพที่ ๒ พบว่าภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ล่องนำเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นภาพขณะทำพิธีการซักซ้อม ก่อนวันพระราชพิธีในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๕
ภาพที่ ๒ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และตามด้วยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เอกสารจดหมายเหตุชุดที่ ๒ ภาพถ่าย ขณะพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเจิมศิลาฤกษ์สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพิธีการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากโครงการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี จำนวน ๔ โรงเรียน ใน ๔ ทิศ ได้แก่ ด้านทิศใต้ โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียนวิทยา ด้านทิศตะวันตก โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา ส่วนทิศตะวันออกและทิศเหนือจัดสร้างใหม่ ในปัจจุบันคือโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชลาดกระบังและโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช เขตจตุจักร
ภาพที่ ๓ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะเจิมศิลาฤกษ์สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
และ นายสิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๕
(รหัสภาพ นรม ๑.๑.๑.๓/๗๔ (๑))
ภาพที่ ๔ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะโปรยข้าวตอกลงบนแผ่นศิลาฤกษ์
ในพิธีเจิมศิลาฤกษ์สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๕
(รหัสภาพ นรม ๑.๑.๑.๓/๗๔ (๒))
การจัดสร้างอนุสรณ์สถานดังกล่าวนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาด้านการศึกษาของประชาชน ดังคำกล่าวของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในพิธีเจิมศิลาฤกษ์สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๕ [1] ไว้ว่า
“รัฐบาลนี้ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานอันสำคัญยิ่งในการ พัฒนาคุณภาพของประชากรของประเทศ และได้มีนโยบายอันแน่วแน่ที่จะสนับสนุนให้มีการปรับปรุงทั้งด้านคุณภาพของการจัดการศึกษาทุกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น รวมทั้งด้านการขยายปริมาณของสถานศึกษาให้เพียงพอที่จะให้โอกาสทางการศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาอย่างกว้างขว้าง
การที่กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา ๔ มุมเมือง เพื่อเป็นถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีนี้ จึงนับว่าเป็นโครงการที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะการตั้งสถานศึกษาเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นการขยายโอกาสให้ เยาวชนของชาติได้รับการศึกษามากขึ้น อันจะเป็นผลให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นประชากร ที่มีคุณภาพที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศชาติของเรา และนับเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์เจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงค์ทุกพระองค์ที่ได้โปรดให้พสกนิกรชาวไทย ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ให้มีวิทยาการตามแบบอย่างนานา อารยประเทศ อันส่งผลให้เกิดความจำเริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติมาตราบเท่าทุกวันนี้
ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือให้โครงการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา ๔ มุมเมือง ของกระทรวงศึกษาธิการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขออำนวยพรให้โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช ทั้ง ๔ โรงเรียน จงเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาวร เป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้อันประดุจประทีปส่องทางชีวิตให้แก่กุลบุตรกุลธิดา อันเป็นความหวังและอนาคตของประเทศชาติของเราตลอดไป”
เรียบเรียงโดย
นางสาวพัชราภรณ์ สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
เอกสารอ้างอิง
หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์. นรม ๑.๑.๕.๑/๒๔๘ คำกล่าวของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เนื่องในพิธีสมโภชศิลาฤกษ์ โรงเรียน ๔ มุมเมือง ตามโครงการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ ณ บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ (๒๐ เม.ย. ๒๕๒๕)
หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี. นรม ๑.๑.๑.๓/๗๑ ภาพกองงานโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภาพพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ชมการซ้อมงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ที่บริเวณท้องสนามหลวง
หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี. นรม ๑.๑.๑.๓/๗๔ ภาพกองงานโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภาพ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเจิมศิลาฤกษ์สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. (๒๕๔๕). จดหมายเหตุงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 3888 ครั้ง)