...

องค์ความรู้ เรื่อง การส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

     การพัฒนาประเทศไทย โดยรัฐบาลสมัย พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างพ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๑ จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติเป็นหลักดังที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕–พ.ศ. ๒๕๒๙) แต่ทั้้งนี้การยึดหลักในการพัฒนาเชิงพื้นที่
หรือ “การพัฒนาแนวใหม่” โดยการกระจายรายได้สู่ประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในชนบทให้มีฐานะความเป็นอยู่แบบพออยู่พอกิน และมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการทางด้านสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้ประชาชนเกิดความอยู่ดีกินดีและมีสุขภาพอนามัยที่ดีร่วมด้วย โดยส่งเสริมให้มีศูนย์บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลศูนย์ประจำภูมิภาค โรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชน ดังปรากฏในคำกล่าวของ พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๖ ตอนหนึ่งของคำกล่าว ระบุว่า
          “...รัฐบาลได้ตระหนักถึงความลำบากของสุขภาพพลานามัยของประชาชน จึงได้ให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขึ้นทุกปี
ตลอดมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ ก็ได้จัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในโครงการสร้างโรงพยาบาลชุมชนขึ้นให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อว่าประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลจากตัวเมือง จะได้มีโรงพยาบาลที่ใกล้ตนเป็นที่บำบัดรักษาโรคได้ทันเวลา เมื่อโครงการนี้สำเร็จคงจะยังความอบอุ่นใจให้กับประชาชน...”
(หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์. นรม ๑.๑.๕.๑/๔๐๑ คำกล่าวของ ฯพณฯ พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี
ในพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (๒๖ มี.ค. ๒๕๒๖))

 
          รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดทำโครงการวิจัยเรื่องยาจากสมุนไพรในพื้นที่ โครงการดังกล่าวสามารถอ้างอิงได้จากรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓/๒๕๒๗   
เรื่อง การพิจารณโครงการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาจากสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ 

                                                                   
(หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์. นรม ๑.๒.๑/๓๘ ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓/๒๕๒๗ (๑๗ ม.ค. ๒๕๒๗))     
 
 
          โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และการพลังงาน จัดทำเอกสารคู่มือการวิเคราะห์สมุนไพรฉบับพ.ศ. ๒๕๒๕ จำนวน ๒ ชนิด คือ ขิงและขมิ้น ซึ่งเป็นสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ประเทศไทย และสามารถนำมาสกัดเป็นตัวยาสำคัญเพื่อใช้รักษาโรค อาทิ การสกัดน้ำมันจากขิงแก่เพื่อทำทิงเจอร์ขิงชนิดเข้มข้น ใช้เป็นยาขับลมและมีสรรพคุณบรรเทาอาการจับไข้ หรือ  การใช้เหง้าขมิ้นบดสดในการฆ่าเชื้อโรคบริเวณผิวหนังทำให้แผลแห้งและตกสะเก็ดเร็วสำหรับผู้ป่่วยที่เป็นโรคฝีดาษที่ถือเป็นโรคระบาดรุนแรงครั้งหนึ่งของประเทศไทย


(หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์. นรม ๑.๒.๑/๓๘ ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓/๒๕๒๗ (๑๗ ม.ค. ๒๕๒๗))
 
          ผลจากการจัดทำโครงการดังกล่าวอาจถือเป็นการดำเนินการต่อยอดมาจากความตื่นตัวในการฟื้นฟูด้านการแพทย์แผนไทยในช่วงพ.ศ. ๒๕๒๒–๒๕๓๐ เพื่อลดต้นทุน   
ในการนำเข้าส่วนผสมของยาจากต่างประเทศและถือเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตภายในประเทศจัดทำเป็นสินค้าส่งออกเพื่อสอดรับกับนโยบายด้านการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

 

 

เรียบเรียงโดย

นางสาวพัชราภรณ์  สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ

 

เอกสารอ้างอิง

           โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นภนาท อนุพงศ์พัฒน์.  (๒๕๖๑).  ปกิณกคดี ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย.  นนทบุรี : สุขศาลา.

           หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์. นรม.๑.๑.๕.๑/๔๐๑ คำกล่าวของ ฯพณฯ พลเอก เปรม   ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (๒๖ มี.ค. ๒๕๒๖)

          หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์. นรม.๑.๒.๑.๑/๓๘ ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓/๒๕๒๗ (๑๗ ม.ค. ๒๕๒๗)

                        

(จำนวนผู้เข้าชม 1710 ครั้ง)


Messenger