มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้ถ่ายถอดข้อความอักษรขอมไทยที่ปรากฏในพระราชลัญจกรสยามโลกัคราช เป็นคำอ่านพร้อมทั้งแปลความหมายดังนี้
คำอ่าน
๑. สฺยามโลกคฺคราชสฺส
๒. สนฺเทสฺลญฺจนํ อิทํ
๓. อชฺฌาวาสฺสานุสาสกสฺส
๔. วิชิเต สพฺพชนฺตุนํ
คำแปล
ตราพระราชลัญจกรประทับหนังสือสำคัญนี้ ของสมเด็จพระสยามโลกัคคราช พระองค์ผู้ประสิทธิประสาทที่วัด แก่ปวงชนในพระราชอาณาเขตต์
ภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสงสัยว่า ถ้าคำแปลมีความเกี่ยวแก่วัดแล้ว เหตุใดก่อนหน้านี้ พระราชลัญจกรสยามโลกัคราชจึงใช้ประทับสัญญาบัตรคู่ด้วยพระบรมราชโองการ จึงขอให้พระเถระ ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษาขอมเป็นอย่างดี แปลข้อความดังกล่าวข้างต้นอีกครั้งหนึ่ง พบว่าเนื้อหาไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัดแต่อย่างใด ความว่า
๒. ใบประทับตรานี้
๑. ของอัครราชาโลกสยาม
๓. ผู้ปกครองสั่งสอน
๔. สรรพชนในแว่นแคว้น ฯ
รายละเอียดของเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๓ ซึ่งในตอนท้ายสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวไว้ว่า
“...ผิดกันไปนิดเดียว ที่ท่านแปลคำ อชฺฌาวสฺส เปนปกครอง ท่านอ้างตัวอย่าง อคารํ อชฺฌาวสติ ว่าปกครองเรือน หรือ ปวี อชฺฌาวสติ ว่าปกครองแผ่นดิน ท่านอธิบายต่อไปว่าคำนั้น ถ้าโดยปกติจะต้องลง ส อาคม เป็น อชฺฌาวาสสฺส แต่เพราะข้อบังคับอนุญาตไว้ ว่าถ้าเปนคาถาแล้วตัดอาคมออกเสียก็ได้ เพราะฉะนั้นจึ่งตัดเปน อชฺฌาวาสฺส แม้กระนั้นก็เกิน ๘ ไปพยางค์หนึ่งแล้ว...”
ลักษณะลวดลายของพระราชลัญจกรสยามโลกัคราช
เปรมา สัตยาวุฒิพงศ์
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มประวัติศาสตร์
(จำนวนผู้เข้าชม 1149 ครั้ง)