...

จารึกวัดข่วงชุมแก้ว พ.ศ. ๒๐๓๒
จารึกวัดข่วงชุมแก้ว พ.ศ. ๒๐๓๒
จารึกวัดข่วงชุมแก้ว หรือจารึกวัดหนองหนาม ลพ. ๒๓
เดิมอยู่ในพิพิธภัณฑ์มณฑลพายัพ วัดพระธาตุหริภุญชัย
หนังสือวิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย  
เรียกจารึกนี้ตามสถานที่พบว่าจารึกวัดหนองหนาม
ปัจจุบันอยู่ในตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ต่อมาในจารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑ จารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน
และแม่ฮ่องสอน ได้ใช้ชื่อว่าวัดข่วงชุมแก้ว
ด้วยพบคำว่าวัดข่วงชุมแก้วปรากฏในจารึกหลักนี้
จารึกวัดข่วงชุมแก้ว แผ่นหินทรงใบเสมา
จารึกด้วยอักษรฝักขาม ระบุ พ.ศ. ๒๐๓๒ ตรงกับรัชกาลพญายอดเชียงราย
กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๑๐
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๐-๒๐๓๘  
เนื้อหาของจารึก ระบุศักราชได้ ๘๕๑ ตัว
 ปีกัดเร้า หรือจุลศักราชได้ ๘๕๑  
ตรงกับพ.ศ. ๒๐๓๒ ปีระกา
เนื้อหาโดยย่อ ด้านที่ ๑ กล่าวถึงมหาเทวี ได้พระราชทานจังโกอันปิดด้วยทองคำ
พร้อมทั้งได้ถวายข้าคำสำหรับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและดูแลวัด จำนวน ๑๐ ครัวเรือน
ซึ่ง มหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้า ได้สร้างอารามข่วงชุมแก้ว เมืองควก ตามฤกษ์ที่ปรากฏบนจารึก ตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๐๓๒ ในครั้งนั้นได้มีการถวายข้าคน
ตามรายนามดังนี้  
พันจัน ถวายข้าคน ๓ ครัวเรือน              
แม่มหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้า จำนวน ๑ ครัวเรือน     
มหาเถรมังคลพุทธิมาเจ้า ๔ ครัวเรือน                                                                                              สืบต่อเนื่องกันไปจนถึงลูกหลานสืบต่อกันไปตราบต่อเท่าสิ้นศาสนา ๕,๐๐๐ ปี
เนื้อหาโดยย่อด้านที่ ๒
ส่วนแรกกล่าวถึงจารึกระบุถึงการฝังหินจารึกในอีก ๒ วันต่อมา
โดยมีปรากฏสักขีพยานประกอบไปด้วยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์
ท่ามกลางประชาชนในเมืองควก ได้แก่ มหาพุกามเจ้า มหาสามีศรีสุนันทะกัลยาณะ
กับราชบัณฑิต ตามด้วยชื่อขุนนาง มีพันนาหลังเชียงน้อย แสนเขาสอย ร้อยนาหลัง
ล่ามหมื่น ลำพันคอม
ส่วนที่สอง กล่าวถึงการรับพระราชอาชญาจากมหาราชเทวี
ให้ราชบัณฑิตชื่อญาณวิสารทะ พร้อมด้วยมหาพุกามเจ้า
ไปยังที่ประชุมพระสงฆ์โดยมี มหาสามีศรีสุนันทะกัลป์ยาณะเป็นประธาน
ผูกพัทธสีมาไว้ในวัดข่วงชุมแก้วนี้ แบ่งเป็นเขต ๒ เขต
ท่ามกลางหมู่พระสงฆ์ที่มาชุมนุมกันอยู่ในขณะนี้ทราบโดยทั่วกัน
มหาเทวีที่ปรากฏในจารึกนี้  อาจเป็นพระมเหสีในพระเจ้ายอดเชียงราย ที่ครองราชย์ในขณะนั้น ด้วยในรัชสมัยของพระองค์ปรากฏการสร้างวัดหลายแห่งโดยปรากฏชื่อมหาเทวี เช่น จารึกวัดตะโปทารามที่กล่าวถึงพระนางอะตะปาเทวี จารึกวัดพวกชอด พ.ศ. ๒๐๓๔  จารึกวัดมหาวัน   (พะเยา) และจารึกวัดต้องแต้ม ที่กล่าวถึงการสร้างวัดของมหาเทวี แสดงให้เห็นถึงสถานะของสตรีชั้นสูงในสมัยล้านนาที่มีบทบาทในการทำนุบำรุงพระศาสนาโดยได้ถวายสิ่งของ ข้าคน มอบอำนาจให้ราชบัณฑิตในการกำหนดเขตวัดหรือเขตสีมาหรือกระทำการแทน
อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (และคนอื่นๆ). จารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑-๒ : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.





(จำนวนผู้เข้าชม 205 ครั้ง)


Messenger