...

พระพุทธรูปแสดงวิตรรรกมุทรา
พระพุทธรูปแสดงวิตรรรกมุทรา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
___พระพุทธรูปแสดงวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ ทำจากสำริด นับว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ในศิลปะหริภุญไชย  พระพุทธรูปองค์นี้ ย้ายมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีเพียงส่วนพระเศียร พระหัตถ์ พระวรกายส่วนบน และพระบาท ปัจจุบันได้นำส่วนต่างๆของพระพุทธรูปมาจัดแสดงติดผนัง เมื่อวัดความสูงจากพระบาทถึงพระเศียร มีขนาดสูงถึง ๑๙๐ เซนติเมตร
___วิตรรกมุทรา มีลักษณะคือ  ปลายพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) แตะกับปลายพระดรรชนี (นิ้วชี้) หรือพระมัชฌิมา (นิ้วกลาง) และที่มีลักษณะนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ งอพับลงมา  ยกเว้นพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พบทั่วไปในศิลปะทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียแบบอมราวดี การทำพระหัตถ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการแสดงพระหัตถ์ของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีที่พบได้ทั่วไป ก่อนที่จะส่งอิทธิพลให้กับพระพุทธรูปในศิลปะหริภุญไชยที่พบในบริเวณจังหวัดลำพูนและใกล้เคียง
___พระพุทธรูปองค์นี้กำหนดอายุราว พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ โดยมีลักษณะคือเม็ดพระศก(ขมวดเส้นผม)ที่แหลมสูงมากกว่าพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีและศิลปะหริภุญไชยที่พบในลำพูน นิยมทำเม็ดพระศกที่ขมวดเป็นวงใหญ่ การทำเม็ดพระศกแหลมเล็กในลักษณะนี้คล้ายกับพระพุทธรูปในศิลปะเขมรที่พบในภาคกลางราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  รวมทั้งลักษณะของพระพักตร์ที่เหลี่ยมและเคร่งขรึม แต่ยังคงลักษณะการแสดงวิตรรกมุทราที่นิยมในศิลปะหริภุญไชยและทวารวดีที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในบริเวณเมืองลำพูน
อ้างอิง
ณัฏฐภัทร จันทวิช (บรรณาธิการ). โบราณวัตถุและศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย . กรุงเทพฯ :ส.พิจิตรการพิมพ์, ๒๕๔๘.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๖.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มใoดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.++













(จำนวนผู้เข้าชม 1163 ครั้ง)