...

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผา
ชิ้นส่วนพระพุทธรูป ดินเผา 
ขนาดสูง ๑๒ ซม. กว้าง ๒๑ ซม.
ย้ายมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปท่อนล่าง เหลือเพียงพระเพลา(ตัก) อยู่ในท่าขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย มีชายผ้าแผ่ออกมาด้านหน้าระหว่างพระบาท รองรับด้วยฐานบัวคว่ำ บัวหงาย 
___ลักษณะของพระพุทธรูปในศิลปะหริภุญไชยที่แสดงอิทธิพลจากศิลปพุกามอย่างเห็นได้ชัด คือการประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ที่พบในพระพุทธรูปศิลปะพุกามที่รับมาจากศิลปะปาละของอินเดีย แตกต่างจากอิทธิพลพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีที่นั่งขัดสมาธิราบแบบหลวม ในศิลปะพุกามจะนั่งขัดสมาธิเพชรแสดงฝ่าพระบาททั้งสองข้างอย่างชัดเจน ส่วนลักษณะของชายผ้าที่แผ่ออกมานั้นก็มีความคล้ายคลึงกับศิลปะพุกาม ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำชายผ้าสองแฉกในศิลปะล้านนาต่อไป 
___หลักฐานทางศิลปกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับการพบจารึกอักษรมอญโบราณในจังหวัดลำพูน จำนวน ๘ หลัก กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ นอกจากนี้ตำนานทางพระพุทธศาสนา เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ยังกล่าวถึงการอพยพของชาวหริภุญไชยที่ได้หนีโรคระบาดไปอาศัยยังเมืองสุธรรมวดีและหงสาวดี เมื่อโรคระบาดหายไปแล้วจึงย้ายกับมาที่เดิม การอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนนี้ย่อมมีการรับอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมจากพื้นที่ทั้งสองแห่งนี้จนมาผสมผสานจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบศิลปของหริภุญไชยอันเป็นรากฐานของล้านนาในเวลาต่อมา 
อ้างอิง
คงเดช ประพัฒน์ทอง, วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๒.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, รายงานการวิจัยเมืองลำพูนจากหลักฐานโบราณคดี ศิลปะและเอกสารทางประวัติศาสตร์.(เอกสารอัดสำเนา)
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ: หริภุญไชย - ล้านนา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 2324 ครั้ง)