โบราณสถานหอพระสูง (พระวิหารสูง)

โบราณสถานหอพระสูง (พระวิหารสูง)

          ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณเนินดินขนาดใหญ่ นอกกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือ มีข้อสันนิษฐานหลายประการเกี่ยวกับประวัติการสร้างหอพระสูงและที่มาของเนินดิน เช่น เชื่อว่าเกิดจากชาวเมืองนครศรีธรรมราชช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมจนเป็นเนินใหญ่ เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดทัพพม่า ในคราวที่มีการยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา เรื่อยมาจนถึงนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพ พ.ศ. ๒๓๒๘ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อท้องถิ่นว่าเป็นสถานที่ปลงพระบรมศพพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นต้น ภายหลังเนินดินนี้ได้กลายเป็นที่รกร้างมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น กระทั่งพ.ศ. ๒๓๗๗ เจ้าพระยานคร (น้อย) เห็นว่าควรจะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเมือง จึงให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นบนเนินนั้นและสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เรียกว่า “หอพระสูง” หอพระสูง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงไทย แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕.๙๐ เมตร ยาว ๑๓.๒๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังทั้งสองด้านทำช่องรับแสงเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างก่ออิฐเป็นตะพัก ๔ ชั้น มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เขียนด้วยสีน้ำตาลเป็นลายรูปดอกไม้ร่วงแปดกลีบ เกสรเป็นลายไทย  ภายในหอพระสูงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย แกนในของพระพุทธรูปทำด้วยดินเหนียวทาน้ำปูน ลักษณะพระวรกายอวบอ้วน กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานพระพุทธรูปตกแต่งด้วยลวดลายเขียนสีลายดอกโบตั๋นเคล้าภาพนก กระรอก ศิลปะจีนผสมกับศิลปะไทย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในภายหลัง นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปหินทรายแดง พระพุทธรูปประทับยืน และเศียรพระพุทธรูป ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช 

          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานหอพระสูง (พระวิหารสูง) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๖๓ หน้า ๑๒๐๖ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๔ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา



Ho Phra Sung  (Phra Viharn Sung)

          Hor Phra Sung or Phra Viharn Sung is located at Klang Sub-district, Mueang Nakhon Si Thammarat District, Nakhon Si Thammarat Province. This monument is on the large mound outside of the northern city wall. There’re many folklore about Ho Phra Sung. For example, belief that the large mound was made of soil from the canal in front of the city to place cannons to intercept the Burmese’s army in Burmese – Siamese war 1785 and the belief that this is the place where King Taksin the Great was cremated. This mound was abandoned until 1834 Chao Phraya Nakhon (Noi) ordered to build the Buddha image and Viharn for enshrined a Buddha image on the mound called “Ho Phra Sung” to encourage the people.

          Ho Phra Sung is a Thai style building in rectangular shape. It was built with bricks and lime. The size of the building is 5.90 metres wide, 13.20 metres long and 3.50 metres high. The building faces east. The roof was made of wood and terracotta roof tiles. In each side of the wall, there’s a rectangular clerestory window. The base made of bricks and has four tiers. There was a steps in front of the building. Inside the shrine, the walls were decorated with mural paintings of eight-petals falling flowers that were drawn in brown and pollens were drawn in Thai style drawing. The base of the Buddha image, which was decorated with peony, bird and squirrel in Chinese and Thai arts. The Buddha image was made of clay, covered with stucco, lacquered and gilded with gold leafs. The Buddha image has corpulent body, in the attitude of Subduing Mara, sitting cross-legs with one top of another, dating between the 18th and 19th century, during the late Ayutthaya period to early Rattanakosin period. In addition, the red sandstone Buddha image, the standing Buddha image and the head of Buddha image which were found here are now kept at the Nakhon Si Thammarat National Museum.

          The Fine Arts Department announced the registration of Ho Phra Sung as a national monument and 2,716 squares - metres of national monument area in the Royal Gazette, Volume 98, Part 63, page 1206, dated 28th April 1981.  

 

(จำนวนผู้เข้าชม 31 ครั้ง)

Messenger