โบราณสถานวัดสุวรรณคีรีวิหาร
โบราณสถานวัดสุวรรณคีรีวิหาร
วัดสุวรรณคีรีวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เดิมมีชื่อว่า “วัดสุวรรณคีรีทาราม” สร้างขึ้นโดยพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) บริเวณริมหาดส้มแป้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นว่าวัดสุวรรณคีรีทารามประสบภัยธรรมชาติเป็นวัดร้าง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เจ้าเมืองระนอง ดำเนินการสร้างวัดนี้ขึ้นใหม่แทน ณ สถานที่ปัจจุบัน พร้อมกับได้พระราชทานนามว่า “วัดสุวรรณคีรีวิหาร” ปรากฏตามพระบรมราชโองการ ฉบับวันที่ ๒ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดหน้าเมือง”
สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะพม่า ชื่อว่า “พระเจดีย์ดาธุ” สูงประมาณ ๘ เมตร ฐานด้านล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๗ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม ประกอบไปด้วยชุดฐานบัวซ้อนกัน ๓ ชั้น มีซุ้มจระนำขนาดเล็กอยู่ทั้ง ๔ ทิศ และซุ้มพระขนาดเล็กที่มุมทั้ง ๔ ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นส่วนองค์ระฆังที่ตกแต่งด้วยเส้นคาดกลางองค์ (รัดอก) ถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปเป็นปล้องไฉน คล้ายลูกแก้วซ้อนกันหลายชั้น ส่วนยอดทำเป็นบัวคว่ำบัวหงายรองรับปลียอดแล้วครอบด้วยฉัตรซึ่งทำด้วยทองเหลืองและประดับเพชรที่ฉัตรตามศิลปะแบบพม่า ภายในเจดีย์บรรจุเครื่องประดับที่มีค่า
สิ่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ศาลาการเปรียญ มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี เป็นอาคารโถง ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นด้านหน้า มีผนังโปร่งเตี้ย ๆ ประดับด้วยลูกกรงปูน เสาอาคารเป็นเสาปูนสี่เหลี่ยมประดับบัวหัวเสาเรียบทั้งด้านบนและด้านล่าง รองรับโครงสร้างหลังคาไม้มุงกระเบื้องซ้อนชั้นอย่างเรียบง่าย ประดับเชิงชายด้วยไม้ฉลุโดยรอบ และพื้นปูด้วยกระเบื้องพิมพ์ลายแบบโบราณ
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๓๓ ง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ พื้นที่ ก. (บริเวณเจดีย์) เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๔๔ ตารางวา และพื้นที่ ข. (บริเวณศาลาการเปรียญ) เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๑๙.๒๗ ตารางวา
เรียบเรียง นางสาวสิริยุพน ทับเป็นไทย นักโบราณคดีปฏิบัติการ
กราฟฟิค นายทัศพร กั่วพานิช จ้างเหมาปฏิบัติงานรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการด้านวัฒนธรรม
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๗.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๔.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ เล่ม ๑. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๗.
นภัคมน ทองเฝือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช, ๒๕๖๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 251 ครั้ง)