โบราณสถานเขาน้ำร้อน
โบราณสถานเขาน้ำร้อน
 
 
     ตั้งอยู่ที่ บ้านวัดแก้ว หมู่ที่ ๒ ถนนสันตินิมิต ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โบราณสถานแห่งนี้น่าจะเป็นศาสนสถานบนภูเขาที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับโบราณสถานในเมืองไชยา ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เช่น วัดเวียง วัดหลง วัดแก้ว ซึ่งตั้งเรียงตามแนวเหนือใต้ โดยด้านทิศใต้สุดของโบราณสถานทั้งสามแห่ง คือ บริเวณเขาน้ำร้อน
     ภูเขาน้ำร้อน เป็นภูเขาลูกโดดขนาดย่อม ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึง ยอดเขามีความสูงราว ๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล บนภูเขามีป่าไม้หนาแน่นเป็นลักษณะของป่าโปร่ง ด้านทิศตะวันออกมีถนนลาดยางแยกจากทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๑ ตัดผ่านริมถนน ด้านตรงข้ามภูเขาเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎร ด้านทิศตะวันตกของภูเขามีถ้ำและซอกผาขนาดย่อม โดยปากถ้ำมีความสูงจากพื้นราบไม่มากนัก บริเวณหน้าถ้ำมีบ่อน้ำ จากคำบอกเล่าเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำพุร้อน
     บริเวณยอดเขาทางทิศตะวันตก พบเนินโบราณสถานมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของภูเขา ที่เป็นพื้นที่แคบ ๆ บริเวณเนินดินพบเศษอิฐกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มีต้นไม้ขนาดย่อมขึ้นปกคลุม โดยรากไม้ได้ชอนไชลงไปภายในเนินโบราณสถาน เนื่องจากมีการพังทลายอย่างมากจึงไม่ทราบรูปทรงที่ชัดเจนของโบราณสถาน
     บนภูเขามีการปรับถมพื้นที่ และมีการสร้างศาลามีลักษณะเป็นอาคารโถงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง มีจารึกว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ และบริเวณท้ายอาคารประดิษฐานพระพุทธรูป
     บริเวณอาคารบนยอดเขา มีการใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวบ้านในบางครั้งบางคราว บริเวณเชิงเขามีการสร้างบันไดขึ้นไปยังโบราณสถานบนยอดเขา และมีการสร้างศาลาที่พักคนเดินทางติดกับบริเวณถนนสาธารณะ มีการจัดเป็นสวนย่อม 
    อายุสมัย : สมัยศรีวิชัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

   โบราณสถานเขาน้ำร้อน ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  ๕๓  หน้า ๑๕๓๒  
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๗ ง หน้า ๑๒ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เนื้อที่ประมาณ ๒๔ ไร่ ๓ งาน
 
   จัดทำโดย
นางสาวเพ็ญณิกา เตี้ยพานิช นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 278 ครั้ง)

Messenger