องค์ความรู้ทางวิชาการเรื่อง ""ตรียัมปวาย – ตรีปวาย: พิธีพราหมณ์ที่ปรากฏในเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา
องค์ความรู้ทางวิชาการเรื่อง "ตรียัมปวาย – ตรีปวาย: 
พิธีพราหมณ์ที่ปรากฏในเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา"
 
 
“พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย” เป็นพิธีกรรมสำคัญในศาสนาพราหมณ์
ตามความเชื่อว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง เป็นเวลา ๑๐ วัน
และเมื่อพระอิศวรเสด็จกลับแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาที่พระนารายณ์เสด็จลงมาบนโลกมนุษย์ เป็นเวลา ๕ วัน

ด้วยเหตุนี้ พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย จึงจัดเป็นพิธีต่อเนื่องกัน ๒ พิธี คือ “พิธีตรียัมปวาย” หรือพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นพิธีต้อนรับพระอิศวร และ “พิธีตรีปวาย” ซึ่งเป็นพิธีต้อนรับพระนารายณ์
โดยแบ่งการพระราชพิธีแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ

พิธีตอนแรก เป็น “พิธีเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” ซึ่งเป็นการอัญเชิญเทพเจ้าลงสู่โลกมนุษย์
จากนั้นเป็นพิธีโล้ชิงช้าของนาลิวัน เพื่อหยั่งความมั่นคงของโลก

พิธีตอนที่สอง เป็นพิธีที่เรียกว่า “ประสาท” เป็นการกล่าวสรรเสริญเทพเจ้า ถวายเครื่องบูชาแก่เทพเจ้า และนำไปแจกแก่มวลมนุษย์เพื่อเป็นความสิริมงคล

พิธีตอนที่สาม เรียกว่าพิธี “กล่อมหงส์” หรือ “ช้าหงส์” เป็นพิธีทรงน้ำเทพเจ้า เสร็จแล้วจึงอัญเชิญขึ้นสู่หงส์ ซึ่งเป็นพาหนะนำองค์เทพเจ้ากลับสู่วิมาน จึงเป็นการเสร็จสิ้นพิธี
 
สำหรับพิธีโล้ชิงช้าซึ่งถือเป็นพิธีกรรมตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย
มีการสันนิษฐานถึงตำนานที่มาของการประกอบพิธีกรรมไว้หลายแนวทาง แต่ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าตำนาน
ที่ได้รับการยอมรับจากพราหมณ์ในราชสำนักผู้ทำหน้าที่ประกอบพระราชพิธีนี้คือตำนานที่เกี่ยวข้องกับคติการสร้างโลก
และการทดสอบความแข็งแรงของโลก ได้แก่ ตำนานตอนหนึ่งของพระอิศวร ครั้งเมื่อพระพรหมทรงสร้างโลกแล้ว
พระอิศวรทรงทดสอบความแข็งแรงของโลกด้วยการเหยียบโลกด้วยพระบาทข้างเดียว เพราะเกรงว่าถ้าลงมาทั้งสองข้างโลกจะแตก และให้พญานาคมาโล้ยื้อยุดระหว่างภูเขาทั้งสองฝั่งของมหาสมุทร ก็ปรากฏว่าแผ่นดินของโลกยังแข็งแรงดีอยู่ พญานาคทั้งหลายก็โสมนัสยินดี ลงเล่นน้ำและพ่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน

นอกจากตำนานดังกล่าว ยังเชื่อว่าพิธีนี้อาจมีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพ (โดยเฉพาะฉบับสำนวนของพระครูวามเทพมุนีที่ถูกนำมาใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย) ซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อพระเป็นเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ร่วมกันสร้างโลกเสร็จแล้ว พระอุมาวิตกว่าโลกจะไม่แข็งแรง และจะถึงกาลวิบัติในไม่ช้า พระอิศวรจึงทรงท้าพนันถึงความแข็งแรงของโลกกับพระอุมา โดยให้พญานาคนาลิวันขึงตนระหว่างต้นพุทราทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ แล้วให้พญานาคไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน พระอุมาจึงคลายความกังวล ส่วนเหล่าพญานาคที่ร่วมการทดสอบต่างพากันปิติยินดีและว่ายน้ำเล่นเป็นการใหญ่
 
สืบเนื่องจากตำนานข้างต้น จึงมีการประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายขึ้นในราชธานี และมีการสร้างเสาชิงช้ากลางพระนคร โดยสมมติให้ “เสาชิงช้า” เป็นภูเขาทั้งสองฝั่งของมหาสมุทร “นาลิวัน” ซึ่งสวมเครื่องประดับศีรษะรูปพญานาคสมมติเป็นตัวแทนของพญานาค “ขันสาคร” ซึ่งบรรจุน้ำตั้งเบื้องหน้าเสาชิงช้าระหว่างกลางเสาทั้งสองสมมติให้เป็นมหาสมุทร “พระยายืนชิงช้า” สมมติว่าคือพระอิศวรผู้ซึ่งเป็นประธานของการโล้ชิงช้า “การรำเสนง” รอบขันสาครซึ่งผู้แสดงจะต้องถือเขาสัตว์วักน้ำจากขันสาครสาดไปรอบๆ สมมติเป็นพญานาคมาแสดงความยินดี ส่วน “แผ่นไม้กระดาน” ซึ่งสลักภาพเทวี คือพระแม่ธรณี พระแม่คงคา และพระอาทิตย์ พระจันทร์ นั้น สมมติให้เป็นเทพและเทวีผู้เป็นบริวารมาเข้าเฝ้ารับเสด็จพระอิศวร
 
จากหลักฐานเอกสาร เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นพิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย) และคงประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย คือราวเดือนธันวาคม ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ หรือเดือนมกราคม พระราชพิธีดังกล่าวถือปฏิบัติกันสืบต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งได้ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฟื้นฟูพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ขึ้นใหม่ โดยจะกระทำเฉพาะพิธีที่จัดขึ้นภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เท่านั้น ส่วนพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย นั้น มิได้นำกลับมาเช่นครั้งโบราณ โดยในปี พ.ศ.๒๕๖๕ นี้ ได้มีการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวขึ้นในระหว่างวันที่ ๘ – ๒๓ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ดังธรรมเนียมที่เคยถือปฏิบัติกันมา 
 
สำหรับเมืองนครศรีธรรมราช ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ดังข้อความที่ระบุในตำนานพราหมณ์นครศรีธรรมราช ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งนำเทวรูปเข้ามาในเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา และความสัมพันธ์ระหว่างพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชกับราชสำนักในสมัยอยุธยา ว่าในครั้งนั้นพระนารายณ์รามาธิบดีแห่งรามนครในอินเดียมีรับสั่งให้ราชทูตนำเทวรูปพระนารายณ์ พระลักษมี หงส์ และชิงช้าทองแดงลงเรือมาถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา แต่ในระหว่างทางเกิดเหตุอัศจรรย์ทำให้เทวรูปทั้งหมดมาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองนครจัดหาที่ให้เหมาะสมเพื่อประดิษฐานเทวรูปทั้งหมดในเมืองนครศรีธรรมราช แล้วจัดให้มีการสมโภชตามแบบพราหมณ์ และให้จัดสิ่งของจากกรุงศรีอยุธยาไปทำพิธีบูชาเทวรูปในพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายอยู่เสมอมา ดังความว่า “....เมื่อเถิงในศักราช ๗๑๒ ปีขาลนักขัตร...พระนารายน์รามาธิราช มีพระราชโองการ ให้นายตำรวจรับเอาองค์พระนารายณ์เทวารูป พระศรีลักษมี พระมเหวารีย์บรมหงษ์ ชิงช้าทองแดง เอาลงบรรจุเภตราแล้ว แลมีพระราชโองการ ให้จัดเอาชีพ่อเปนภาษา ๕ เหล่ามอบให้ผแดงธรรมนารายน์เปนนาย ให้ศุภชีพ่อ ๕ เหล่ารับเอานารายณ์เทวารูปเอาไป กรุงนครศรีอยุธยาไว้สำหรับโพธิสมภารสนองต่างองค์สมเด็จนารายน์รามาธิบดี...แลเรือต้องพยุซัดเข้าปากน้ำตรัง แลกรมการบอกหนังสือส่งข่าวมาเถิงเมืองนคร จึงเจ้าพญานครคิดด้วยพระหลวงกรมการ สั่งให้ตำรวจมหาดไทยให้ออกไปรับองค์พระนารายน์เทวารูป พระศรีลักษมี พระมเหวารีย์บรมหงษ์ แลผแดงธรรมนารายน์ชีพ่อเบญจภาษา นั้นเข้ามาเมืองนคร...แลองค์นารายน์รามาธิบดีรู้ทราบพระหฤไทยแล้ว แลมีพระราชโองการ ตรัสสั่งแก่เจ้าพญาโกษาให้แต่งตราบอกไปแก่เจ้าพญานครแลกรมการ เห็นที่ใดสมควรให้แต่งสถานรับไว้เปนศักดิสิมาแก่แผ่นดินเมืองนครเถิด...” และ “...เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ ได้ฤกษ์ กะติกาโรหินีฤกษ์ พระอาทิตย์สงกรานต์เถิงราษีพิจิกให้ตามตะเกียงไม้เทพทัน แลให้นับแต่แรม ๒ ค่ำไป ๒๙ วัน เปนกรรดิมา สามนับไป ๒๘ วัน แลให้ชีพ่อพราหมณ์ ๕ คน เร่งการพิธีเตรียมปา (ตรียัมพวายตรีปาวาย) ได้ถวายเข้าเม่าเข้าตอกแต่พระนารายน์เทวารูป แลพราหมณ์ ๔ ตนอ่านหนังสืออวยไชยพรถวายพระราชกุศลตามสงกรานต์ พระอาทิตย์ไปทุกวัน...ผแดงธรรมนารายน์ทำปากศรีนาทักษิณาบูชาตามถวายแก่พระนารายน์เทวารูป ตแขงเส้งทองแดงใส่น้ำมันให้วิตถารไว้เหนืออาศชิงช้าหน้าสถาน ๓ วัน...” 
 
จากหลักฐานเอกสารข้างต้น แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราชมีการประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย รวมทั้งมีการโล้ชิงช้าเช่นเดียวกับในราชธานี โดยสันนิษฐานว่าพิธีดังกล่าวจัดขึ้นในบริเวณโบสถ์พราหมณ์ (นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเรียกว่าหอพระคเณศ) ซึ่งเป็นเทวสถานสำคัญประจำเมืองนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาในบริเวณเดียวกับเสาชิงช้า หอพระอิศวร และหอพระนารายณ์ นอกจากนั้น ภายในโบสถ์พราหมณ์ยังมีการค้นพบหลักฐานสำคัญเนื่องในศาสนาพราหมณ์ เช่น ศิวลึงค์ศิลา เทวรูปพระคเณศสำริด เทวรูปพระศิวะและพระอุมา รวมทั้งนางกระดานไม้ซึ่งใช้ในการโล้ชิงช้า จึงมีการเรียกพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ในเมืองนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งว่า “พิธีแห่นางดาน” ซึ่งมีที่มาจากคำว่านางกระดาน นั่นเอง
 
พิธีแห่นางดาน หรือพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ ในอดีตถือเป็นพิธีที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช จัดกันเป็นประเพณีสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งแต่เดิมพิธีดังกล่าวประกอบด้วยพิธีกรรมหลายขั้นตอน โดยเริ่มในวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย อันเป็นพิธีต้อนรับพระอิศวร พิธีแห่นางดาน พิธีโล้ชิงช้า พิธีอ่านเม่า พิธีเปิดประตูสวรรค์ พิธียกอุลุบ พิธีร่ายพระเวท พิธีธรณีลงดิน พิธีรำเสนงกวักน้ำมนต์ และพิธีช้าหงส์ หลังจากนั้นเมื่อถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายจะเป็นส่งพระอิศวรเสด็จกลับ และทำพิธีต้อนรับพระนารายณ์จนถึงวันแรม ๕ ค่ำ จึงส่งพระนารายณ์ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๕ วัน สำหรับนางกระดานซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิธีในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ คือ ไม้กระดาน ๓ แผ่น แกะสลักเป็นรูปพระแม่คงคา พระแม่ธรณี พระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งสมมติเป็นเทพที่อัญเชิญมารอต้อนรับพระอิศวร
 
ทั้งนี้ พิธีแห่นางดานในเมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏหลักฐานว่าได้ถูกยกเลิกไปครั้งเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ และแม้ว่าในอดีตได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นพิธีแห่นางดานขึ้นใหม่หลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๔๔ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีมติให้รื้อฟื้นพิธีแห่นางดานขึ้นอีกครั้ง โดยผนวกเข้ากับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในวันงานจะมีการจำลองพิธีแห่นางดาน โดยอัญเชิญนางกระดานจำลองมายังหอพระอิศวรและประดิษฐานในหลุมหน้าเสาชิงช้า และการจำลองพิธีโล้ชิงช้า แต่ทั้งนี้พิธีกรรมดังกล่าวมิได้ครอบคลุมไปถึงส่วนของพิธีตรีปวาย หรือพิธีแห่พระนารายณ์และพิธีช้าหงส์ ดังเช่นที่เคยถือปฏิบัติกันมาเมื่อครั้งโบราณ 
 
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการรื้อฟื้นพิธีแห่นางดานขึ้นอีกครั้งของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ ถือเป็นการสืบทอดประเพณีโบราณคู่บ้านคู่เมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยอยุธยาที่เกี่ยวข้องกับพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายที่ปรากฏในเมืองนครศรีธรรมราช อันได้แก่ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ เสาชิงช้า โบสถ์พราหมณ์ รวมทั้งเทวรูปเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในเทวสถานเหล่านี้ เช่น พระศิวนาฏราชสำริด พระอุมาสำริด พระวิษณุสำริด พระหริหระสำริด พระคเณศสำริด หงส์สำริด และนางกระดานไม้ ซึ่งยังคงคุณค่าความสำคัญอยู่ภายในเมืองนครศรีธรรมราชมาจนถึงปัจจุบัน 
 
เรียบเรียง/กราฟิก: นางสาวนภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
 
อ้างอิง
๑) กรมศิลปากร. ย้อนรอยพิธีโล้ชิงช้าในสยาม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓.
๒) ประพิศ พงศ์มาศ. “พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย (พิธีโล้ชิงช้า),”ศิลปากร ปีที่ ๕๕, ฉบับที่ ๓ (พ.ค.-มิ.ย.๒๕๕๕), ๑๐๒-๑๐๙. 
๓) เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ. “เฉลิมไตรภพ” : การศึกษาแนวคิดและกลวิธีสร้างสรรค์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาวัฒนธรรมตะวันออก คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๖๐.
๔) พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา). ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์เอกพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), นครหลวง : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาการ, ๒๔๗๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 8410 ครั้ง)