องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง พระพุทธสิหิงค์ พระคู่เมืองนครศรีธรรมราช
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง พระพุทธสิหิงค์ พระคู่เมืองนครศรีธรรมราช
พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช ประดิษฐานอยู่ที่ "หอพระพุทธสิหิงค์" ในบริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งวังของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชอย่างช้านาน เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทยมี "พระพุทธสิหิงค์" หลายองค์ประดิษฐานตามจังหวัดต่าง ๆ แต่พระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวไทยสักการบูชามาแต่ครั้งโบราณมี ๓ องค์ คือ
๑) พระพุทธสิหิงค์ที่กรุงเทพมหานคร ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
๒) พระพุทธสิหิงค์ที่เชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
๓) พระพุทธสิหิงค์ที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งนำมากล่างถึงในองค์ความรู้ชุดนี้
ลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ แห่งเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสำริด พุทธลักษณะ ประทับนั่ง ปางมารวิชัย “ขัดสมาธิเพชร” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร สูง ๔๒ เซนติเมตรพระวรกายอวบอ้วน มักเรียกว่า “แบบขนมต้ม” วงพระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิสั้นเป็นแบบเขี้ยวตะขาบเหนือพระอังสาซ้าย ซ้อนทบกันหลายชั้น เรียกว่า “เล่นชายจีวร” ฐานเตี้ยและเรียบไม่มีบัวรอง ส่วนที่เป็นฐานบัวทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา แต่มีเอกลักษณ์ทางศิลปะแห่งเมืองนครศรีธรรมราช จึงกำหนดเรียกรูปแบบศิลปะว่าเป็น "ศิลปะอยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช"
เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์มีผู้แต่งไว้หลายฉบับ เช่น พระโพธิรังสี นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาชาวเชียงใหม่ได้แต่งไว้เป็นภาษามคธ เรียกว่า "สิหิงคนิทาน" ซึ่งน่าจะเป็นฉบับที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่าเก่าแก่ที่สุด นอกจากนี้ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งไว้โดยสังเขปเล่มหนึ่ง และหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้แต่งเป็นตำนานโดยย่อและเรียบเรียงข้อวิจารณ์ทางศิลปกรรมและโบราณคดีไว้ด้วยอีกเล่มหนึ่ง
เนื้อหาใน "สิหิงคนิทาน" มีลักษณะเชิงตำนาน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๘ ปริเฉท มีเนื้อความสรุปได้ว่า พระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นในประเทศลังกา โดยพระราชาชาวลังกา ๓ องค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๒๐ รูป ได้ร่วมกันสร้างขึ้นราว พ.ศ. ๗๐๐ เพื่อให้เป็นที่สักการะของทวยเทพ ท้าวพระยาและมหาชนโดยทั่วกัน ก่อนสร้างได้ปรึกษาสอบสวนถึงพุทธลักษณะอย่างถี่ถ้วน โดยหมายจะให้ได้รูปที่เหมือนองค์พระพุทธเจ้ามากที่สุด ถึงกับมีตำนานเล่าว่ามีพญานาคตนหนึ่งซึ่งเคยเห็นองค์พระพุทธเจ้า ได้นิรมิตให้เห็นเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับสมาธิเหนือรัตนบัลลังก์ สมบูรณ์ด้วยพระมหาปุริสลักษณะ เมื่อถึงสมัยสุโขทัยกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า"ไสยรงค์" ทรงทราบถึงลักษณะอันงดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตไปขอพระพุทธสิหิงค์จากพระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากรุงลังกาก็ถวายมาตามพระราชประสงค์ พระเจ้าไสยรงค์ทรงโสมนัสมาก เสด็จไปรับพระพุทธสิหิงค์ถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย หลังจากนั้นกล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานที่เมืองต่างๆ ตามลำดับดังนี้ คือเมืองพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงราย จนถึงไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
เรื่องราวพระพุทธสิหิงค์ที่พระโพธิรังษีแต่งไว้ก็จบลงเพียงเท่านี้ แต่พระพุทธสิหิงค์ยังมีเรื่องราวในพงศาวดารและมีผู้แต่งต่อเติมขยายความต่อมาอีกมาก
ที่มาของชื่อ "พระพุทธสิหิงค์" นั้นกล่าวกันว่าอาจมาได้ ๒ ทาง คือทางหนึ่งมาจากการเปรียบลักษณะของพระพุทธรูปนี้ว่าสง่างามดั่งพญาราชสีห์ ความเชื่อนี้มีมาแต่สิหิงคนิทาน ดังที่ แสง มนวิทูร ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า "...มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์จึงเรียกชื่อว่า พระสิหิงค์ อีกนัยหนึ่งลักษณะท่าทางของราชสีห์เหมือนลักษณะท่าทางของพระผู้มีพระภาค จึงเรียกชื่อว่า สิหิงค์ (สีหอิงค)" ส่วนอีกทางหนึ่งอาจมาจากการที่เราเรียกชาวลังกาอีกชื่อหนึ่งว่า "ชาวสิงหล"และด้วยที่เชื่อกันว่ามีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับชาติลังกาดังกล่าวแล้ว ต่อมาจึงเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า "พระสิงห์"หรือ "พระพุทธสิหิงค์" ซึ่งก็คือพระพุทธรูปสิงหลนั่นเอง
เรียบเรียง/ภาพ: นายทัศพร กั่วพานิช นักวิชาการวัฒนธรรม
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
อ้างอิง
กรมศิลปากร. นิทานพระพุทธสิหิงค์ : ว่าด้วยตำนาน พระพุทธสิหิงค์. D-Library | National Library of Thailand, accessed March 28, 2023, http://digital.nlt.go.th/items/show/1105 เข้าถึงเมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖
ดิเรก พรตตะเสน."แห่พระพุทธสิหิงค์ : นครศรีธรรมราช." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๑๘. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒. ๘๗๔๔-๘๗๔๕
พรศักดิ์ พรหมแก้ว. "พระพุทธสิหิงค์ : นครศรีธรรมราช." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๑๑. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒. ๕๐๙๐-๕๐๙๔.
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์.เรื่องพระพุทธสิหิงค์ กับวิจารณ์เรื่องพระพุทธสิหิงค์.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๔๗๗
(จำนวนผู้เข้าชม 3009 ครั้ง)