ตามหาร่องรอย "เมืองพิมาย" ในนิทรรศการพิเศษ "เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม"
ตามหาร่องรอย "#เมืองพิมาย" ใน นิทรรศการพิเศษ "#เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม"
.
พี่นักโบ ตั้งใจพามาชม นิทรรศการพิเศษ กรมศิลปากร ประจำปี พุทธศักราช 2567 ภายใต้เรื่อง ”เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม“ ในส่วนของหัวข้อ "แผนภูมิของแผ่นดิน" โดยนิทรรศการพิเศษในปีนี้ ตั้งใจนำเสนอสุดยอดเอกสารสำคัญในความดูแลของกรมศิลปากรฉบับจริงจำนวนกว่า 41 ชุด รวมทั้งสิ้นกว่า 200 รายการ ซึ่งหลายฉบับยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน ถูกนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการนี้เป็นครั้งแรก
.
เอกสารฉบับหนึ่ง ที่พี่นักโบหยิบยกมานำเสนอในวันนี้ ได้แก่ "แผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1" โดยฉบับที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ พิมพ์จากต้นฉบับเดิมของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งได้ทูลเกล้าถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 คราวพระองค์เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมกรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2513
.
หากเอ่ยถึงพระนาม "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1" หลายคงอาจหลงคิดไปไกลว่าคือปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อพิจารณาจากชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในแผนที่แล้ว "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1" ในที่นี้คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั่นเองครับ โดยสันนิษฐานว่าแผนที่ฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แล้วเขียนเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2367-2394)
.
ความน่าสนใจของแผนที่ฉบับนี้ คือการเขียนลักษณะภูมิประเทศ ทั้งภูเขา แม่น้ำไว้อย่างชัดเจน รวมไปการกำหนดจุดหมายตา หรือ Landmark ในจุดต่าง ๆ อาทิ ต้นไม้ใหญ่ หนองน้ำ บันทึกลงไว้ในแผนที่เพื่อเป็นจุดกำกับในการเดินทางระหว่างเมืองด้วย นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะทางระหว่างเมือง ด้วยเส้นสีดำ ว่าแต่ละเมืองอยู่ห่างกันเป็นจำนวนกี่คืน หรือกี่วัน ซึ่งง่ายสำหรับผู้ใช้แผนที่
.
"#เมืองพิมาย" เป็นหนึ่งในหลายเมืองในภูมิภาคอีสานใต้ที่ถูกเขียนไว้ในแผนที่ด้วย จากแผนที่พบว่าทางด้านทิศเหนือของ เมืองพิมาย มีแม่น้ำมูล ซึ่งเชื่อมลำน้ำเชียงไกรไหลผ่าน ซึ่งถูกต้องตามภูมิประเทศ และยังทำให้ผู้ใช้แผนที่ทราบว่า ถ้าเราต้องการเดินทางจาก เมืองพิมาย ไป เมืองพุทไทสง (อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์) ใช้เวลา 1 คืน จากเมืองพุทไทสง ไป เมืองแปะ (อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์) จะต้องข้ามแม่น้ำมูลและจะพบกับต้นดุม ใช้เวลา 3 คืน ซึ่งจากเมืองแปะ สามารถเดินทางไปเมืองอื่น ๆ ได้ อาทิ เมืองนางรอง (อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์) เมืองตะลุง (อ.ประโคนชัย จ.สุรินทร์) หรือเมืองสุริน (อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์)
.
ความน่าสนใจอีกประการของแผนที่ฉบับนี้ คือ เมืองนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ของ เมืองพิมาย มิได้ถูกเขียนชื่อกำกับไว้ แต่กลับมีข้อความ เขียนกำกับไว้นอกกรอบเมืองว่า "โคกพะญา" มีเส้นทางน้ำไหลเข้ามายังกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพแล้ว หรืออาจเป็นทางน้ำเชื่อมระหว่างลำตะคองกับคูเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณแยกประตูน้ำ ? ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกำกับชื่อเมืองเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้ง จึงทราบได้ทันทีว่าเป็น เมืองนครราชสีมา
.
จากแผนที่แสดงให้เห็นว่า #เมืองนครราชสีมา เป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า "ประตูสู่อีสาน" เมื่อเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีเมืองสำคัญ ๆ อยู่รายรอบ อาทิ เมืองปัก (อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา) ด้านทิศใต้ เมืองสี่มุม (อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ) ด้านทิศเหนือ เมืองชนบท (อ.ชนบท จ.ขอนแก่น) ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเมืองพิมาย ด้านทิศตะวันออก
.
แผนที่อายุกว่า 170 ปี ฉบับนี้ นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สำคัญที่ปรากฏชื่อบ้านนามเมือง ลักษณะภูมิประเทศ และจุดหมายตาทั้งพระราชอาณาจักรสยามขณะนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภูมิภาคอีสานใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ชื่อบ้านนามเมืองในตอนนั้นกลายเป็นชื่ออำเภอ และจังหวัดในปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งใน "แผนภูมิของแผ่นดิน" อันทรงคุณค่าของชาติ หากมีโอกาส พี่นักโบ ขอเชิญชวนทุกคนไปเยี่ยมชมนิทรรศการพิเศษ "เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม" ได้ตั้งแต่วันนี้ - 30 มิถุนายน 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ กันครับ
.
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
.
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ป้ายข้อมูลภายในนิทรรศการพิเศษ "เอกสารล้ำค่า จารึกสยาม"
- กรมศิลปากร. เอกสารประกอบนิทรรศการ "เอกสารล้ำค่า จารึกสยาม". กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2567.
(จำนวนผู้เข้าชม 220 ครั้ง)