...

พาไปชม จารึกจิตรเสนที่ช่องเขาตะโก
องค์ความรู้ เรื่อง "..พาไปชม จารึกจิตรเสนที่ช่องเขาตะโก.."
 
ปราสาทหนองเสม็ด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา ใกล้กับลำห้วยคลอง  ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง จังหวัดบุรีรัมย์ กับ จังหวัดสระแก้ว  ใกล้กับช่องเขาตะโก  ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออกเข้าด้วยกันมาตั้งเเต่ยุคโบราณ
 
สภาพปัจจุบันของปราสาทบ้านหนองเสม็ดถูกขุดรื้อทำลายจนกลายสภาพเป็นกองเนินหิน พบร่องรอยการขุดหาโบราณวัตถุอยู่กลางเนินดิน  ทั้งนี้แทบไม่เหลือสภาพความเป็นโบราณสถานแล้ว  แต่ความน่าสนใจของปราสาทหลังนี้กลับอยู่ที่จารึกหินทรายที่พบนั่นเองครับ
 
ย้อนกลับเมื่อราวปี 2563 อาจารย์มยุรี วีระประเสริฐ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางไปสำรวจวัดบ้านหนองเสม็ด เเละสังเกตเห็นรอยบนจารึก และในเวลาต่อมา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาทำสำเนาจารึกเก็บไว้
จากการสัมภาษณ์ราษฎรในพื้นที่ทำให้ทราบว่า  ปราสาทบ้านหนองเสม็ดมีสภาพเป็นกองหินแบบนี้นานมากแล้ว ไม่เคยเห็นเป็นปราสาท ต่อมามีการเข้ามาขุดหาสมบัติ  จึงพบหลักหินชิ้นหนึ่งคว่ำหน้าอยู่ใกล้ทางเดินในป่า  เมื่อหงายดูจึงพบว่ามีตัวหนังสือเลยนำมาเก็บไว้ที่วัดนานแล้ว
 
จารึกหลักดังกล่าว  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อ่านจารึกในเบื้องต้นไว้ว่าเป็น #จารึกของพระเจ้าจิตรเสน  โดยนับเป็นจารึกหลักที่ 23 ที่ค้นพบใหม่ จารึกเป็นภาษาสันสกฤตบอกเล่าการสร้างศิวลึงค์  เป็นข้อความที่มีความคล้ายคลึงกับที่จารึกพระเจ้าจิตรเสนที่พบมาก่อนหน้านี้แล้ว 5 หลัก  ซึ่งพบในประเทศไทย 2 หลัก ได้แก่ 1. ถ้ำเป็ดทอง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ และ 2. ในเขตพื้้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 
 
จากการสำรวจพบว่าตัวโบราณสถานมีสภาพเป็นกองหินที่นำมากองเรียงกันเป็นเนินหินขนาดประมาณกว้าง 10 และยาว 20 เมตร สูงจากพื้นดินปัจจุบันประมาณ 2 เมตร  และมีลักษณะคล้ายกับสถานที่พบจารึกจิตรเสนที่ลำโดมน้อย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีแต่สภาพป่ารกทึบทำให้ยากต่อการสำรวจจึงไม่สามารถสรุปรูปแบบที่แท้จริงได้
 
จากตำแหน่เดิมของจารึกที่น่าจะปักไว้ที่นี้ ก็สันนิษฐานได้ถึงความสำคัญของ #ช่องเขาตะโก ในการเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ราบสูง) กับภาคตะวันออก (ที่ราบ) ที่มีมาตั้งแต่อดีต อย่างน้อยก็ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ร่วมสมัยกับพระเจ้าจิตรเสนมเหนทรวรมัน ได้ขยายอำนาจของอาณาจักรเจนละในยุคเริ่มแรกจากเมืองเศรษฐปุระในเขตแขวงจำปาสักซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ สปป.ลาว เข้าสู่ช่องเขาช่องตะโกเขตต่อแดนบุรีรัมย์และสระแก้วในปัจจุบันนั่นเองครับ
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี

(จำนวนผู้เข้าชม 827 ครั้ง)


Messenger