องค์ความรู้ : การฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองพิมาย
องค์ความรู้ : การฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองพิมาย 

      การฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มี ๒ แบบ คือ การฝังศพครั้งที่ ๑ เป็นการฝังศพภายหลังเสียชีวิตมักอยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว และการฝังศพครั้งที่ ๒ เป็นการขุดโครงกระดูกขึ้นมาบรรจุในภาชนะดินเผาและนำกลับไปฝังอีกครั้ง
      การฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองพิมาย พบหลักฐานหลายบริเวณ ดังนี้ 
       ๑.ปราสาทพิมาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘ ระหว่างการบูรณะปราสาทได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 3 โครง บริเวณใต้ฐานปราสาทประธานของปราสาทพิมายเบนจากฐานออกไปเล็กน้อย ที่ระดับความลึกประมาณ ๓ เมตร
        ๒.บ้านส่วย เนินดินก่อนประวัติศาสตร์ตั้งอยู่นอกเมืองพิมาย จุดสูงสุดของเนินอยู่ห่างจากคูเมือง-กำแพงเมืองพิมายไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ราว ๘๐ เมตร  มีการขุดค้น ๒ ครั้ง ดังนี้
 เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ R.H.Parker ได้ขุดพบการฝังศพในภาชนะดินเผาจำนวน ๓ ใบ 
        ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ -๒๕๔๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา (ปัจจุบัน) ได้ขุดค้นพบหลักฐานการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวจำนวน 4 โครง พบในชั้นดินต่อเนื่องกัน 3 สมัย ตั้งแต่ยุคเหล็กถึงต้นประวัติศาสตร์ อายุราว 1,400-1,800 ปีมาแล้ว
         โครงกระดูกที่ ๑ พบเพียงลำตัวท่อนบน หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณไหล่ซ้ายมีภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ ๑ ใบ ตายเมื่ออายุราว ๒๕-๓๕ ปี พบในระดับความลึกประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ ซม. 
         โครงกระดูกที่ ๒ พบเพียงลำตัวท่อนบน หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก แขนซ้ายสวมกำไลสำริด ๑ วง ฟันกรามซี่ที่ ๑ ผิดปกติ คือ มีเคลือบฟันซ้อน ๒ ชั้นคล้ายโครงกระดูกที่ ๓ ตายเมื่ออายุราว ๑๕-๒๕ ปี พบในระดับความลึกประมาณ ๒๐๐-๒๐๖ ซม. 
         โครงกระดูกที่ ๓ พบเพียงกะโหลกศีรษะ กระดูกแขน กระดูกขา ฟันสึกมาก
         โครงกระดูกที่ ๔ ฝังทับซ้อนโครงกระดูกที่ ๓ พบกะโหลกศีรษะ กระดูกแขน กระดูกขา ซี่โครง บริเวณกระดูกหน้าแข้งมีภาชนะแบบพิมายดำ ๓ ใบ ใต้ภาชนะมีชิ้นส่วนสำริดคล้ายห่วงเอวและชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก ๒ ชิ้น หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบในระดับความลึกประมาณ ๒๓๐-๒๕๐ ซม. ด้านขวาของโครงกระดูกที่ ๓ และโครงกระดูกที่ ๔ ห่างจากกระดูกปลายเท้าเล็กน้อยมีกลุ่มภาชนะแบบพิมายดำ จำนวน ๙ ใบ 
          ๓. เมรุพรหมทัต จากการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ บนถนนบูชายันต์ บริเวณเยื้องไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมรุพรหมทัต ในหลุมขุดค้น MH 7 ได้พบหลักฐานการฝังศพ สภาพโครงกระดูกไม่สมบูรณ์ พบเพียงกระดูกแขน ขา กระดูกสันหลัง เชิงกราน ร่วมกับกำไลหินอ่อน และภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง จำนวน ๗ ใบ เป็นภาชนะดินเผาทรงพาน ทรงหม้อ ในชั้นวัฒนธรรมที่ 1 อายุประมาณ 1,500-2,500ปีมาแล้ว 
          ๔. วัดใหม่ประตูชัย ริมกำแพงหัวมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด บนฟุตบาทข้างถนนหฤทัยรมย์  ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ลักษณะนอนหงายเหยียดยาว จำนวน 1 โครง ในระดับความลึก 290 เซนติเมตรจากผิวถนน โครงกระดูกหันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หันหน้าไปทางด้านซ้ายมีลักษณะพับคอลงมา แขนแนบลำตัว มือรวมอยู่ส่วนกลางของลำตัวซึ่งน่าจะเป็นการมัดมือ ข้อมือซ้ายสวมกำไลทรงกระบอกทำจากหินอ่อนจำนวน 3 วง มีกำไลลักษณะทรงกลมแบนมีหน้าตัดรูปตัว T จำนวน ๑ วงวางอยู่ข้างกำไลทั้ง 3 วง สวมสร้อยคอทำจากหินอ่อน ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกยาวคล้ายตะกรุดจำนวน 11 แท่ง แท่งรูปทรงกระบอกสั้นจำนวน 13 แท่ง บริเวณช่วงลำตัวของโครงกระดูกมีชิ้นส่วนเหล็ก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งของที่อุทิศให้ผู้ตาย สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วงราว 1,500-2,500ปีมาแล้ว
บรรณานุกรม
รัชนี ทศรัตน์ และอำพัน กิจงาม. 2547.รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านส่วย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา.กรมศิลปากร. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.กรุงเทพฯ
ศุภชัย นวการพิศุทธิ์. ๒๕๖๓.  รายงานการขุดศึกษาทางด้านโบราณคดีบริเวณพื้นที่เมืองพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา.โครงการท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน ตามโครงการปรับภูมิทัศน์ 10 เมืองเก่า.(เอกสารอัดสำเนา)
กิจการร่วมค้าอาซีฟาแอนด์วีอาร์เอส และห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนธาราธรรม . 256๓ โครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินบริเวณรอบนอกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมายจังหวัดนครราชสีมา ตามโครงการเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าระยะที่ 3 ในพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้. (อัดสำเนา)
SARAH TALBOT, CHUTIMA JANTHED. Northeast Thailand before Angkor: Evidence from an Archaeological Excavation at the Prasat Hin Phimai. Asian Perspectives, Vol. 40. No.2. 2002. University of Hawai'Press. 
   เรียบเรียงโดย น.ส.วิลาสินี แช่มสะอาด นักโบราณคดีชำนาญการ

(จำนวนผู้เข้าชม 2805 ครั้ง)

Messenger