เครื่องมือช่วยการเข้าถึง
color contrast
text size
highlighting content
zoom in


องค์ความรู้ เรื่อง "สิม วัดสว่างบัวมาศ" อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
 
องค์ความรู้ เรื่อง "สิม วัดสว่างบัวมาศ"
 
สิม วัดสว่างบัวมาศ ตั้งอยู่ที่ บ้านบ้วมาศ  ตำบลบัวมาศ  อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นสิมแบบสิมทึบ ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดสี่ห้อง หันหน้าไปทางตะวันออก โครงสร้างหลังคาเดินเป็นไม้ แต่ปัจจุบันซ่อมเปลี่ยนเป็นวัสดุใหม่ไปแล้ว
 
ส่วนฐานอาคารทำเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่ ตัวอาคารผนังก่อเป็นช่องหน้าต่างวงโค้ง ตอนล่างทำเป็นช่องวงโค้งรูปไข่แต่ทำเป็นหน้าต่างหลอก ใช้วงโค้งเป็นช่องแสงเข้าไปในตัวอาคาร ภายในทำฐานชุกชีเป็นแนวยาวตลอดผนังด้านตะวันตกตามแบบสิมในวัฒนธรรมล้านช้างทั่วไป 
 
สำหรับพระพุทธรูปประธานถูกย้ายออกไปยังสิมหลังใหม่แล้วทั้งหมด ไม่มีภาพจิตรกรรมในสิม ผนังด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้น มีการทำหน้าต่างหลอกรูปแบบเดียวกัน แต่ปั้นปูนเป็นทวารบาลรูปตำรวจประดับไว้ ส่วนเหนือวงโค้งหน้าต่างทำปั้นลายเป็นรูปครุฑกางปีก ยอดหัวเสาปั้นลายลิงถือรังผึ้ง ซุ้มประตูทำเป็นวงโค้งประดับปูนปั้นเป็นภาพราหูอมจันทร์ หน้าบันประดับลายปูนปั้นเต็มพื้นที่เป็นภาพพระพุทธเจ้าท่ามกลางลายใบอะแคนทัส (acanthus) หรือ ผักกูดฝรั่ง มีนกยุงอินเดียประดับแทรกอยู่ หน้าบันด้านหลังประดับเป็นลายพระพุทธเจ้าอยู่ทาามกลางลายดอกไม้ ใบไม้แบบฝรั่งแทรกด้วยกระรอก นก  ลิงถือรังผึ้งประดับอยู่
 
สิม หลังนี้แม้จะไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด  แต่จากรูปแบบศิลปกรรมแบบสิมญวนที่ปรากฏอยู่ทั้งการใช้วงโค้งเหนือกรอบประตูและหน้าต่าง การใช้ลายปูนปั้นแบบตะวันตกก็สามารถประมาณอายุที่สร้างได้ในราว พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา ซึ่งจัดเป็นช่วงปลายๆอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบสิมญวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงถึงการเข้ามาของศิลปะเวียดนามรุ่นหลัง ๆ ที่มีอิทธิพลอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นและงานประดับตกแต่งในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2450-2500  ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
 
มีโอกาส ขอเชิญชวนทุกท่านเเวะไปชมสิมหลังงามอีกแห่งหนึ่งของอำเภอบรบือกันนะครับ
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี

(จำนวนผู้เข้าชม 817 ครั้ง)