...

ตามรอยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา
ตามรอยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน พุทธศักราช 2449
ผ่านภาพถ่ายเก่าสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
 
 
 
ตามรอยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน พุทธศักราช 2449
 
        สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสด็จออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยระหว่าง พ.ศ. 2435-2458 เพื่อจัดระบบการปกครองหัวเมืองให้เป็นแบบเดียวกันภายใต้กระทรวงมหาดไทยและสร้างความเข้าใจในการปกครองแก่หัวเมืองให้มีเอกภาพและบรรเทาทุกข์ของราษฎร อีกทั้งยังเป็นกลวิธีรับมือจากการรุกล้ำจากประเทศมหาอำนาจ
พุทธศักราช 2449 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งพระทัยจะเสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร มณฑลอีสาน และมณฑลบูรพา แต่เมื่อคำนวณระยะเวลาการเดินทางแล้ว ทรงกังวลว่าจะไม่ทันตามกำหนดการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงงดเสด็จไปมณฑลบูรพา แล้วทรงปรับเส้นทางการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ดังนี้
       เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2449 ด้วยขบวนรถไฟพิเศษ ถึงเมืองนครราชสีมา ทรงพักเตรียมการเดินทางอยู่ 2 วัน จากนั้น เสด็จออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร ผ่านเมืองชนบท เมืองขอนแก่น เมืองกุมภวาปี
บ้านหมากแข้ง เมืองหนองคาย เมืองโพนพิสัย เมืองไชยบุรีและท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองกุสุมาลย์มณฑล เมืองสกลนคร เมืองเรณูนคร เมืองมุกดาหาร เข้ามณฑลอีสาน ผ่านเมืองยโสธร
จากนั้นเสด็จผ่านเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสารคาม เมืองพยัคฆภูมิ แล้วเสด็จกลับมณฑลนครราชสีมา ผ่านเมืองไผทสงฆ์ เมืองพิมาย แล้วเสด็จไปสถานีรถไฟ โดยไม่ได้ทรงแวะพักค้างคืนที่เมืองนครราชสีมา เนื่องจากกำลังเกิดกาฬโรค
      เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449
      การเสด็จออกตรวจราชการครั้งนี้ ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ร.ศ. 125 (พุทธศักราช 2449) ทรงบรรยายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ทำให้เห็นบรรยากาศของชาวบ้านที่พึ่งพาตนเอง โดยนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม กสิกรรม อาทิ การทำนา การเลี้ยงไหม มีตลาดค้าขายอย่างอิสระและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกทั้งยังเห็นถึงสภาพบ้านเมือง ประเพณี วัฒนธรรมในแต่ละเมือง อาทิ
     วันที่ 1 มกราคม “เวลาบ่าย 4 โมงเศษ ทรงเสด็จถึงหนองนาเกลือ เป็นหนองใหญ่ เพราะปิดน้ำไว้คล้ายทุ่งสร้างที่เมืองขอนแก่น ได้ขนานนามว่า “หนองประจักษ์”...” ทำให้เห็นถึงแหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ในเมืองขอนแก่น     
     วันที่ 18 มกราคม “เวลาบ่าย 4 โมง ราษฎรแห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟเป็นกระบวนใหญ่ เข้าประตูชาลาพระเจดีย์ด้านตะวันตก แห่ประทักษิณองค์พระธาตุ สามรอบ กระบวนแห่นั้น คือ ผู้ชายและเด็กเดินข้างหน้าหมู่หนึ่งแล้ว มีพิณพาทย์ ต่อไปถึงบุษบกมีเทียนขี้ผึ้งใหญ่ 4 เล่มในบุษบก แล้วมีรถ บ้องไฟ ต่อมามีปราสาทผึ้ง คือแต่งหยวกกล้วยเป็นรูปปราสาท แล้วมีดอกไม้ทำด้วยขี้ผึ้งเป็นเครื่องประดับ มีพิณพาทย์ ฆ้อง กลองแวดล้อม แห่มา และมีชายหญิงเดินตามเป็นตอน ๆ กันหลายหมู่ และมีกระจาดประดับประดาอย่างกระจาดผ้าป่า ห้อยด้ายไส้เทียนและไหมเข็ด...” แสดงให้เห็นถึงประเพณีและวัฒนธรรมในการแห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟ อันเป็นประเพณีที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันของชาวอีสาน
    ดังนั้น รายงานเสด็จตรวจราชการของพระองค์ในครั้งนี้ ทรงบันทึกรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงสภาพพื้นที่ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของราษฎร ประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดระบบการปกครอง การพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบคมนาคมและการชลประทานที่ช่วยยังชีพราษฎร ตลอดจนเห็นถึงความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการให้ความสำคัญต่อราชการในพระองค์ ด้วยการจัดการต้อนรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และคณะอย่างสมพระเกียรติ
หมายเหตุ : การสะกดคำยึดตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ หรือการคัดลอกข้อความจะคงสะกดตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรายการนั้น ๆ
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอาทิพรรษ์ ผาจันดา นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ 
-------------------------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร. เอกสารตรวจราชการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.119-131 (พ.ศ. 2443-2455). กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2564.
สถาบันดำรงราชานุภาพ. การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : สถาบันดำรงราชานุภาพ, 2555.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย ร.5 ม.2.14/17 เรื่อง กรมหลวงดำรงราชานุภาพไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอิสาน (21 มกราคม ร.ศ.121 – 7 กุมภาพันธ์ ร.ศ.125)
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1498 ครั้ง)


Messenger