โบราณสถานปราสาทวัดโคกปราสาทประชานุรักษ์ ตั้งอยู่ในที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทประชานุรักษ์หรือวัดโคกปราสาทใต้ ตำบลหนองบอน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17
สภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดเล็ก มีต้นไม้ขึ้นคลุมค่อนข้างหนาแน่น มีขนาดกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 35 เมตร และ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบโดยเว้นเป็นทางเข้าด้านทิศตะวันออก คูน้ำมีขนาดกว้างประมาณ 15 – 20 เมตร บนเนินโบราณสถานปรากฏแนวอาคารที่ก่อด้วยหินทราย ศิลาแลง และอิฐ
#จากร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏ สามารถสันนิษฐานองค์ประกอบของปราสาทได้ดังนี้
1. #ปราสาท ประกอบด้วย
1.1 #ปราสาทประธาน : อาจเป็นปราสาทสามหลังตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือใต้ โดยยังปรากฏประตูทางเข้าของปราสาทอย่างน้อย 2 หลัง หลังแรกยังปรากฏกรอบประตูตัวตั้งทั้งสองข้างทำด้วยหินทราย และหลังที่สองถัดไปทางทิศเหนือ ปรากฏกรอบประตูหินทรายทั้งส่วนบนและตัวตั้งทั้งสองข้าง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และคงก่อสร้างด้วยอิฐด้วย เนื่องจากพบเศษอิฐเป็นจำนวนมาก
1.2 #แนวกำแพงล้อมรอบ : อาจมีแนวกำแพงล้อมรอบปราสาท โดยทางด้านหน้าปรากฏฐานอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง โดยมีหินบางส่วนที่ถูกนำมาเรียงใหม่ ปรากฏหินส่วนที่เป็นหน้าบันและกรอบประตู กรอบหน้าต่าง เสาประดับกรอบประตูแบบเสาแปดเหลี่ยม อาคารส่วนนี้น่าจะเป็นโคปุระหรือประตูซุ้มทางเข้า ทางด้านทิศตะวันตกปรากฏอาคารที่ฐานก่อด้วยศิลาแลง ส่วนผนังก่อด้วยอิฐ กรอบประตูใช้หินทราย อาคารส่วนนี้อาจเป็นโคปุระด้านทิศตะวันตก หรืออาคารขนาดเล็กประดิษฐานเทพชั้นรอง
1.3 #คูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบปราสาท : คูน้ำรูปตัวยู (U) ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันมีการสร้างถนนชิดแนวคูน้ำด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก คูน้ำมีแนวล้อมรอบปราสาทโดยเว้นเป็นทางเข้าด้านทิศตะวันออก คูน้ำมีขนาดกว้างประมาณ 15 – 20 เมตร
2. #บาราย
ถัดจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 450 เมตร มีบารายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ บารายมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 250 เมตร ยาวประมาณ 260 เมตร คันดินขอบบารายมีขนาดกว้างประมาณ 20 เมตร สูงจากพื้นนาโดยรอบ 3 เมตร บารายแห่งนี้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า หนองบัวราย
#จากหลักฐานที่พบ สันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานปราสาทวัดโคกปราสาทประชานุรักษ์ เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 เป็นศาสนสถานของชุมชนในวัฒนธรรมเขมรบริเวณนี้ในอดีต ตัวปราสาทน่าจะประกอบด้วยปราสาทสามหลังตั้งเรียงกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาจมีกำแพงล้อมรอบโดยมีโคปุระทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก และมีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้หินทราย แท่งศิลาแลง และอิฐเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ทางด้านทิศตะวันออกมีบารายตั้งอยู่
ข้อมูลโดย นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ(จำนวนผู้เข้าชม 998 ครั้ง)