"....โนนหนองกราด : แหล่งผลิต เกลือสินเธาว์โบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กับ ปริศนา ? โครงกระดูกช้าง พบใหม่! แห่ง อำเภอด่านขุนทด..."
“เกลือสินเธาว์” เป็นทรัพยากรแร่ที่สำคัญของมนุษย์มาตั้งเเต่โบราณ ผลจากการศึกษาทางโบราณคดี พบว่า มนุษย์เรียนรู้ที่จะผลิตเกลือสินเธาว์มาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภค ถนอมอาหาร ชุบแข็งโลหะ ฯ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก หรือราว 2,500-1,500 ปีมาแล้ว โดยพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบแหล่งทรัพยากรแร่ ประเภทเกลือหิน ทั้งที่มีลักษณะเป็น โดมเกลือและอ่างเกลือ ใต้ดิน คิดเป็นร้อยละ 27 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือกว่า 7,016.33 ตารางกิโลเมตร (หากนึกไม่ออกว่ากว้างใหญ่ขนาดไหน ก็ให้นึกถึงขนาดของจังหวัดสระแก้วหรือขนาดใหญ่เกือบ 5 เท่าของกรุงเทพมหานคร ครับ) โดยแร่ประเภทเกลือหินมีขอบเขตทรัพยากรอยู่ทางด้านทิศเหนือของจังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10 อำเภอ
.
#โนนหนองกราด ตั้งอยู่ บ้านหนองกราด หมู่ที่ 3 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา (ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเอกชน) ภูมิประเทศเป็นโนนสูง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 175 เมตร เป็นแหล่งโบราณคดี ประเภทแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่เป็นที่ทิ้งดินภายหลังกระบวนการกรองน้ำเกลือออกแล้ว ในช่วงเวลานั้น คงเป็นเนินดินขนาดย่อมที่เกิดขึ้น รอบ ๆ พื้นที่กรองน้ำเกลือ และเมื่อเวลาผ่านไป เนินดินเหล่านี้ คงเชื่อมตัวและพอกพูนกลายเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อสำรวจบริเวณโนน ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ตกแต่งด้วยวิธีการกดประทับลายเชือกทาบ และวิธีการทาน้ำดินสีแดง กระจายตัวเป็นจำนวนมาก เบื้องต้น กำหนดอายุสมัย โนนหนองกราด ให้มีอายุอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก หรือราว 2,500-1,500 ปีมาแล้ว เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมนุษย์เริ่มผลิตเกลือสินเธาว์ได้แล้ว ดังปรากฏให้เห็นจากแหล่งโบราณคดีประเภทเดียวกันที่กระจายในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เเละใกล้เคียง
.
#ความพิเศษ ของ โนนหนองกราด มิได้จบแค่การเป็น แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์โบราณ เท่านั้น แต่เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมานี้ได้พบ #โครงกระดูกช้าง ถูกฝังอยู่บนโนนลาดลงมาทางทิศใต้ ซึ่งเป็นการพบโดยบังเิญจากการปรับพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย โครงกระดูกช้าง ดังกล่าว พบที่ระดับความลึกจากผิวดินเดิมประมาณ 2 เมตร ลักษณะที่พบ สันนิษฐานว่า ช้างตัวนี้ถูกขุดหลุมฝังโดยมนุษย์ เพราะปรากฏรูปโครงชัดเจน และผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า ช้างตัวดังกล่าวเป็นช้างสายพันธุ์เอเชียหรือสายพันธุ์ปัจจุบัน และมีอายุเมื่อตายอยู่ในช่วง 10-20 ปี ทั้งนี้ การกำหนดอายุสมัยของช้างตัวนี้ ยังเป็นข้อจำกัด เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏบนผิวดินมีไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า โครงกระดูกช้าง ดังกล่าว มีอายุเท่าใด เเละร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีหรือไม่ ในอนาคตหากมีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบคงช่วยให้เราตอบคำถามต่างๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา(จำนวนผู้เข้าชม 1338 ครั้ง)