โบราณสถานปราสาทบ้านหนองขี้เหล็ก ตั้งอยู่บ้านหนองขี้เหล็ก ตำบลหนองขวาว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยอยู่ในพื้นที่นาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านหนองเหล็ก ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่ทางด้านทิศเหนือของปราสาทศีขรภูมิ ประมาณ 3 กิโลเมตร สภาพปัจจุบันถูกไถปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตร และนาข้าว เหลือเป็นเนินดินเตี้ยๆรูปทรงสี่เหลือมผืนผ้า สูงจากพื้นที่นาประมาณ 1.50 เมตร กว้าง 10 เมตร ยาวประมาณ 14 เมตร บริเวณโดยรอบเป็นที่นา จากการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงพบว่ามีบารายขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันตื้นไปเกือบหมดแล้วอยู่ทางด้านตะวันออกห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร
บนพื้นเนินดินพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบเครื่องถ้วยเขมรกระจายอยู่เบาบางโดยทั่วไป และยังพบก้อนหินศิลาแลงที่ตัดเป็นก้อนสำหรับก่อสร้างอาคาร มีขนาดประมาณ 80X65X36 เซนติเมตร วางตัวกระจายอยู่ชายเนินด้านตะวันตกและทิศใต้แต่ไม่เรียงกันเป็นฐานอาคาร ก้อนศิลาแลงสี่เหลี่ยมกระจายอยู่ทางด้านทิศตะวันออกที่ถูกขยับมาวางทิ้งไว้ที่คันนาห่างออกจากเนินดินประมาณ 20 เมตร พบชิ้นส่วนแท่นหินบดยา 1 ชิ้นอยู่บนเนินดิน ไม่พบโบราณวัตถุอื่นในพื้นที่นาที่อยู่โดยรอบ แต่เดิมเป็นพื้นที่ป่า ต่อมาจับจองเป็นพื้นที่ทำการเกษตรและปรับพื้นที่เป็นที่นาเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว จึงมีการไถปรับพื้นที่ทำให้พื้นที่เนินดินหดเล็กลงเรื่องๆ ชาวบ้านเล่าว่า เท่าที่จำได้เดิมเนินดินนี้ มีขนาด 2 งาน เเต่ถูกไถปรับจนเหลือเท่าที่เห็นในปัจจุบัน ก้อนหินที่พบเกิดจากการไถและดุนมากองรวมกัน มีก้อนหินแลงบางส่วนนำไปไว้ที่วัดทุ่งสว่างนารุ่ง ตำบลนารุ่ง อำเภอศีขรภูมิ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
แม้หลักฐานที่พบ จะมิได้มีความโดดเด่นมากนัก แต่หลักฐานที่พบเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ช่วยแสดงให้เห็นถึงร่องรอยปราสาทในวัฒนธรรมเขมร ในเขตพื้นที่อำเภอศีขรภูมิ ที่ไม่ได้แค่ปราสาทหลังใหญ่ๆ อย่าง ปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทช่างปี่ (อโรคยศาล) ได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลโดย : นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี(จำนวนผู้เข้าชม 444 ครั้ง)