จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ
นอกจากจารึกวัดจงกอ แล้ว ในเขตพื้นที่อำเภอด่านขุดทด ยังพบจารึกอีกหลักหนึ่งที่เราไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ #จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ เดิมทีจารึกหลักนี้พบในเขตพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พบอยู่กับไม่ไกลกับ #เหวตาบัว ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางสัญจรธรรมชาติเชื่อมต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช โดยเป็นจารึกสำคัญที่แสดงความมีตัวตนของ #เมืองพิมาย และเมืองพนมรุ้ง ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ว่ามิได้รกร้าง มีการอยู่อาศัย ต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 แม้แต่กรุงศรีอยุธยา ในช่วงเวลานั้น ก็รู้จักและมีความต้องที่จะขยายพระราชอำนาจเหนือเมืองพิมาย เเละเมืองพนมรุ้ง อีกด้วย
จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ เป็นจารึกหินทราย ด้านที่ 1 จารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย จำนวน 26 บรรทัด ด้านที่ 2 จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาเขมรโบราณ จำนวน 27 บรรทัด
#ข้อความในจารึกกล่าวถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสาทพระยา) โปรดให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอกมนตรีพิเศษและเหล่าขุนนาง ยกทัพไปตีเมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง และเมืองพระนคร ภายหลังได้รับชัยชนะจึงยกทัพกลับ สอดคล้องกับข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกของหอสมุดวชิรญาณ ตรงกับปี พ.ศ.1974
ปัจจุบันจารึกหลักดังกล่าว ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ณ วัดบ้านฉางประชานิมิต ตำบล เขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ(จำนวนผู้เข้าชม 1388 ครั้ง)