การสำรวจศิลปกรรมภาพลายเส้นใบเสมาบ้านคอนสวรรค์
โดย นางสาวนิตยา สาระรัตน์ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส
ใบเสมาบ้านคอนสวรรค์ ตั้งอยู่บ้านคอนสวรรค์ หมู่ที่ ๘,๙ และ ๑๑ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นชุมชนโบราณที่ปรากฎหลักฐานและร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในอดีตมาตั้งแต่สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖ หลังจากนั้นปรากฏพบหลักฐานร่องรอยวัฒนธรรมขอมภายในชุมชน แต่พบหลักฐานค่อนข้างน้อย และเป็นไปได้ว่าชุมชนอาจทิ้งร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในสมัยวัฒนธรรมไท – ลาว เมื่อประมาณ ๑๐๐ – ๒๐๐ ปีมาแล้ว มีคนกลุ่มใหม่เข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชนอีกครั้ง ดังปรากฏอาคารโบราณสถานอุโบสถ (สิม) สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สร้างตั้งอยู่ในวัดบ้านคอนสวรรค์
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา (ขณะนั้น) ดำเนินงานบูรณะอาคารอุโบสถ (สิม) วัดบ้านคอนสวรรค์
ใบเสมาบ้านคอนสวรรค์ เป็นใบเสมาที่ทำจากหินทรายจำนวนมาก บริเวณที่พบนั้นเป็นเนินดินที่อยู่นอกเมือง เรียกว่า โนนกู่ ใบเสมาเหล่านี้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ต่างๆ รอบหมู่บ้าน จนกระทั่งปัจจุบันได้นำมารวบรวมเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านคอนสวรรค์ ใบเสมาเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแผ่นหิน และพบการสลักลวดลายประดับเป็นภาพบุคคลตามเรื่องราวชาดกตอนต่างๆ ในพุทธศาสนา ได้แก่ เวสสันดรชาดก สุวรรณสามชาดก ภูริฑัตชาดก เตมียชาดก มโหสถชาดก เทวธรรมชาดกหรือสีวิรราชชาดก มาตุโปสกชาดก
ขั้นตอนการดำเนินงาน
๑. ดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลภาพลายเส้นตามร่องรอยที่หลงเหลืออยู่จริง
๒. ดำเนินการวิเคราะห์ลายเส้นใบเสมา ร่วมกับนักโบราณคดี เพื่อเติมเต็มภาพลายเส้นให้สมบูรณ์
๓. ดำเนินการเติมภาพลายเส้นให้สมบูรณ์ ที่ได้ข้อมูลจากการวิเคราะห์
๔. ดำเนินการจัดทำเสกลหน้างานจากแหล่งใบเสมา เพื่อให้ได้ความแม่นยำของระยะของลวดลาย
๕. ดำเนินการวาดภาพลายเส้นใบเสมาให้สมบูรณ์ตามแนวทางการวิเคราะห์ร่วมกับนักโบราณคดี
๖. ภาพผลงานการวาดลายเส้นลวดลายใบเสมาที่เติมเต็มให้สมบูรณ์ บนกระดาษกราฟที่เข้าเสกลตามสัดส่วนจริง
๗. นำภาพผลงานการวาดลายเส้นลวดลายใบเสมาที่เติมเต็มให้สมบูรณ์ มาดำเนินการวาดเส้นในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Illustrator เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายต่อไป(จำนวนผู้เข้าชม 2157 ครั้ง)