การสำรวจศิลปกรรมประเภทแกะสลักหินทรายบนทับหลัง โบราณสถานประเภท อโรคยาศาล..."ปราสาทโคกงิ้ว"
โดย นายรัชฎ์ ศิริ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส
ปราสาทโคกงิ้ว หมู่ที่ ๓ บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๐ ตอนที่ ๓๖ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ พื้นที่โบราณสถาน ๑ ไร่ ๓ งาน ๘๗ ตารางวา
องค์ประกอบของโบราณสถาน
๑.ปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ขอมสร้างด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตรัสย่อมุม มีขนาดประมาณ ๕x๕ เมตร มีประตูทางด้านทิศตะวันออก อีก ๓ ด้านเป็นประตูหลอก อยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐาน
๒.บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลง ขนาดประมาณ ๔x๗ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ประธาน จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังแกะสลักหินทรายรูปคชลักษมี ซึ่งหล่นอยู่ภายในบรรณาลัย และได้นำไปเก็บไว้ เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
๓.กำแพงแก้วและซุ้มประตู กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง มีขนาดประมาณ ๒๕x๒๕ เมตร มีซุ้มประตูหินทราย(โคปุระ)อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลง
๔.สระน้ำประจำโบราณสถาน ตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกกำแพงแก้ว เป็นสระดินขนาดประมาณ ๑.๐๐x๑.๕๐ เมตร
(จำนวนผู้เข้าชม 641 ครั้ง)