...

โคมยี่เป็ง
. ในช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ 'ประเพณียี่เป็ง' ของล้านนาค่ะ  จะเห็นได้ว่าตามวัดและบ้านเรือนต่างๆ เริ่มประดับประดาโคมไฟหลากหลายสีสัน ก่อให้เกิดเป็นภาพงดงามซึ่งจะมีโอกาสได้เห็นกันในช่วงประเพณีนี้เท่านั้นค่ะ
. ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง  “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนานั้นเอง
. กิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่ชาวล้านนานิยมทำกันในวันนี้คือ การจุดผางประทีปและโคมไฟบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ และอธิษฐานขอพรเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองค่ะ
. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จึงขอพาทุกๆท่านไปทำรู้จักกับ”โคมยี่เป็ง : มนต์เสน่ห์แห่งล้านนา ” พร้อมกับเก็บภาพบรรยายงานประเพณียี่เป็งของเชียงใหม่ในปีนี้ค่ะ มาฝากทุกๆท่านค่ะ
""""""""""""""""""""""""
/// ความหมายของโคม ///
. “โคม” หรือ ภาคเหนือออกเสียงว่า “โกม” หมายถึง ตะเกียง หรือ เครื่องโคมไฟ ซึ่งมีบังลม อาจทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม, แปดเหลี่ยม, วงกลม หรือทรงอื่นๆ หิ้วหรือแขวน ตามที่ต่างๆ เพื่อให้แสงสว่างโดยตรงและเป็นเครื่องบูชาสิ่งที่เคารพนับถือ
/// ความสำคัญและความเชื่อของการจุดโคมยี่เป็ง ///
. “โคม” เป็นงานหัถตกรรมพื้นบ้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่สืบต่อจนถึงปัจจุบันในภาคเหนือ ซึ่งชาวล้านนาใช้เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยเชื่อกันว่าแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ดำเนินชีวิตเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข
. นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า การปล่อยโคมขึ้นบนท้องฟ้า เป็นการลอยเคราะห์ลอยนาม โคมที่ปล่อยขึ้นไปนั้นก็เพื่อจะให้ลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีจออีกด้วยค่ะ
/// ประเภทของโคมยี่เป็ง ///
มีหลักๆอยู่ 4 ประเภท ได้แก่
--- 1.โคมถือ
. โคมถือ คือ โคมที่มีกำบังทำด้วยกระดาษสี มี 2 แบบ คือ “โคมหูกระต่าย” จะมีลักษณะคล้ายหูกระต่าย มักใช้ถือไปเดินขบวนแห่งานลอยกระทง ข้างในโคมจะจุดเทียนไขไว้ เมื่อเดินขบวนเสร็จแล้ว ก็จะนำไปปักไว้บริเวณรอบๆ โบสถ์ วิหาร หรือ สถานที่มีงานพิธีกรรม ส่วนอีกแบบคือ “โคมกลีบบัว” มีลักษณะคล้ายกลีบบัว มีด้ามไม้ใช้ถือคล้ายๆเป็นก้านดอกบัว เมื่อแห่ขบวนเสร็จแล้วมักจะนำไปบูชาพระประธานในพระวิหาร
--- 2.โคมลอย
. โคมลอย คือ โคมที่จุดแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศ มีลักษณะเป็นรูปถุงทรงกระบอก ก้นใหญ่ปากแคบ ทำด้วยกระดาษว่าว โคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปนั้น เชื่อกันว่าจะให้ลอยขึ้นไป เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีจอ หรือเพื่อบูชาแก่เจ้าผู้ใช้กำเนิดของตนบนสวรรค์ ที่เรียกว่า "พ่อเกิดแม่เกิด"
--- 3.โคมแขวน
. โคมแขวน คือ โคมที่ใช้แขวนบนหลักหรือขื่อ นิยมแขวนในวิหาร โบสถ์ หรือทำค้างไม้ไผ่ชักรอกแขวนข้างโบสถ์ วิหาร เพื่อเป็นพุทธบูชา หรือใช้ตกแต่งบ้านเรือน เพื่อบูชาเทพารักษ์ ผู้รักษาหอเรือน อาคารบ้านเรือนก็ได้ โคมแขวนมีหลากหลายรูปแบบและรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป เช่น โคมรังมดส้ม (โคมเสมาธรรมจักร), โคมดาว โคมไห, โคมเงี้ยว (โคมเพชร), โคมกระบอก เป็นต้น
--- 4. โคมผัด
. โคมผัด คือ โคมที่มีภาพไว้ตรงที่ครอบ เมื่อจุดไฟแล้วที่ครอบนั้นจะหมุน ทำให้เงาของภาพสะท้อนบนพื้นผนัง บอกเล่าเรื่องราวภาพในตัวโคมได้ มักนิยมทำเป็นรูป 12 ราศี
. โคมผัด เป็นภาษาพื้นเมือง คำว่า "ผัด" แปลว่า หมุนหรือเวียนไปรอบ ดังนั้น โคมผัดคือโคมที่มีลักษณะหมุนไปรอบๆ หรือเวียนไปรอบๆ เมื่อจุดไฟในโคมก็จะเกิดอากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศเย็นจะเวียนเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดเป็นกระแสอากาศเบาๆ พัดให้โคมหมุนไปรอบๆทำให้ตัวโคมที่ติดรูปภาพต่างๆ หมุนไปเกิดการสะท้อนของภาพไปตกอยู่ที่ตัวโคม ซึ่งเป็นฉากอยู่ทำให้เกิดความสวยงาม โคมผัดจะตั้งไว้เป็นที่ ไม่เคลื่อนย้าย
"""""""""""""""""""""""""""
. “โคม” กับงานประเพณียี่เป็ง ถือได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่ก่อนชาวล้านนามีโคมใช้ไม่แพร่หลายมากนัก จุดประสงค์ของการใช้สอยของโคมไฟโบราณทำขึ้นเพื่อใช้เป็น ตะเกียง หรือสิ่งประดิษฐ์ สำหรับจุดไฟให้สว่าง แต่ด้วยเหตุผลที่น้ำมันมีราคาแพง ประเพณีการจุดโคมแต่เดิมจึงมักมีเฉพาะในพระราชสำนักและบ้านเรือน ของเจ้านายใหญ่โต เท่าที่ผ่านมาชาวล้านนาจะใช้โคมไฟในฐานะของเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น
. ในปัจจุบันโคมไฟถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น ตกแต่ง บ้านเรือน โรงแรม รีสอร์ท วัด  สถานที่ราชการ และเอกชน เพื่อความสวยงามดูบรรยากาศสบายๆแบบล้านนา และเสริมความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่า การจุดโคมไฟนั้น จะนำความเจริญรุ่งเรืองและความสุขมาให้กับตนและครอบครัวต่อไป
--------------------------
. ช่วงนี้อากาศในเชียงใหม่กำลังดีเลยค่ะ ยิ่งช่วงเวลากลางคืน ลมหนาวเย็นๆพัดมา บวกกับบรรยากาศแสงเทียนจากโคมยี่เป็งและจากผางประทีปตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นภาพที่งดงามจริงๆค่ะ
. ทางพิพิธภัณฑ์ของเราเลยเก็บภาพสวยๆมาฝากทุกๆท่าน หากมีโอกาสแวะมาเที่ยวประเพณียี่เป็งที่จังหวัดเชียงใหม่ได้นะคะ พบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้าค่ะ
---------------------------
/ เอกสารอ้างอิง /
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.
ศรีเลา เกษพรหม. (๒๕๔๒). ล่องสะเพา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๑, หน้า ๕๘๕๐-๕๘๕๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สงวน โชติสุขรัตน์. (๒๕๑๑). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.
https://lampssky.com/โคมล้านนามรดกของชาวเหนือ เข้าถึงเมื่อ 12 พ.ย. 2564
/ ภาพประกอบ /
คุณกานต์ธีรา ไชยนวล และ คุณวรรณพร ปินตาปลูก
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.
e-mail: cm_museum@hotmail.com
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308
For more information, please leave your message via inbox or call: +66 5322 1308+










(จำนวนผู้เข้าชม 47855 ครั้ง)