...

ลูกชั่งลูกเป้ง
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ #ลูกเป้ง
. สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งกับสาระความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ค่ะ
. ทุกคนเคยสงสัยหรือไม่คะ ว่าสมัยก่อนเมื่อมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องวัดน้ำหนักกัน คนสมัยก่อนเค้าทำกันอย่างไร ในเมื่ออดีตยังไม่มีการกำหนดหน่วยกิโลกรัมเป็นมาตรฐาน
. การซื้อขายด้วยการชั่งในอดีตนั้น พบว่ามีการใช้ตราชั่งแบบตาเต็งหรือตาชู(ตาชั่งแบบสุเมเรียน) ในการใช้ตาชูจะต้องมีลูกชั่งซึ่งเป็นโลหะที่กำหนดน้ำหนักไว้เป็นมาตราฐานเพื่อนำมาชั่งน้ำหนักสิ่งของต่างๆ โดยในล้านนาจะเรียกลูกชั่งลักษณะนี้ว่า "ลูกเป้ง" ค่ะ
. วันนี้เราลองมาทำความรู้จัก "ลูกเป้ง" ลูกชั่งของล้านนาด้วยกันนะคะ
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
. “ลูกเป้ง” หรือ “เป้ง” เป็นตัวถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณหรือตราชู คนโบราณเรียกชั่งชนิดนี้ว่า “ยอย” ด้านหนึ่งมีจานใส่ของ เรียกว่า ผางยอย
. “ลูกเป้ง”ทำจากโลหะ ส่วนมากเป็นสำริดหรือทองเหลือง ‘เป้ง’มีขนาดแตกต่างกันออกไป ขนาดเล็กที่สุดอาจเท่าเมล็ดถั่วไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม
. วิธีใช้ คือ วางของที่จะชั่ง เช่น ฝิ่น เงิน ทอง หรือสิ่งของที่ซื้อขายกันในตลาด เช่น พริก กระเทียม ยาสมุนไพร ไว้ที่จานใบหนึ่งของตราชู จากนั้นวาง ‘เป้ง’ ที่เป็นตัวถ่วงน้ำหนักไว้ที่จานอีกใบหนึ่งของตราชู วาง ‘เป้ง’ขนาดต่าง ๆ จนทำให้แขนของตราชูขนานกับพื้นทั้งสองข้างก็จะทราบว่าของที่ชั่งนั้นมีน้ำหนักเท่าใด
. “ลูกเป้ง” นิยมทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก เป็ด หงส์ ช้าง สิงห์ และสัตว์ตามปีนักษัตร หรือทำเป็นลูกกลมๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย ขาวมอญในพม่านิยมใช้ลูกชั่งรูปหงส์ เนื่องจากเป็นสัตว์ในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองหงสาวดี  ‘เป้ง’บางตัวมีการเติมเนื้อตะกั่วเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน
. ความสำคัญของ “ลูกเป้ง” นั้นนอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งแทนความสำคัญอย่างอื่นได้อีก เช่น
. ใช้ “ลูกเป้ง” แทนทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา เช่น ใส่ใน ‘ขันตั้ง’ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีสืบชะตาเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวล้านนาจะใช้ “ลูกเป้งรูปนักษัตร” หรือ “เป้งสิบสองราศี” ใส่ขันตั้งไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะเกิดสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น ฤทธิ์ของลูกเป้งตามแต่ละราศี จะสามารถปราบขึด(ความอัปมงคล)หรือเสนียดจัญไรให้แก่ผู้ใส่ได้เป็นอย่างดี
และ “ลูกเป้ง” ยังหมายถึง ตัวนำโชค บางคนจึงพก “ลูกเป้ง” ไว้เป็นเครื่องรางติดตัวเพื่อคอยป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆ
. การเก็บลูกเป้ง ชาวล้านนาจะเก็บลูกเป้งไว้ใน ถุงผ้าขนาดเล็ก รูปทรงคล้ายย่ามที่ปากถุงมีห่วงเงินเล็ก ๆ หลายห่วงร้อยเชือกไว้ ส่วนปลายเชือกจะมีลูกปัด หรือลูกแก้วผูกอยู่ ใส่พกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า “ถงเป้ง” หรือ “ถุงเป้ง”
. ในอดีตนั้น “ลูกเป้ง”และ “ถุงเป้ง” มีความสัมพันธ์กับความเชื่อของคนล้านนาที่สอดคล้องกับคำทำนายหรือหนังสือพรหมชาติล้านนาหลายฉบับที่กล่าวถึง โฉลกในการพกลูกเป้งและการเลือกใช้ถุงสำหรับบรรจุทรัพย์ว่า ‘คนใดเกิดปีใดควรพกลูกเป้งกับถุงเป้งใด’ เพื่อให้เป็นมงคลกับตัว ดังนี้
คนเกิดปีใจ้ (ชวด) ให้ใช้เป้งรูปหนู ใช้ถุงเป้งลายเหลือง
คนเกิดปีเปล้า (ฉลู) ให้ใช้เป้งรูปวัว ถุงเป้งสองชั้น นอกขาวในเหลือง
คนเกิดปียี (ขาล) ให้ใช้เป้งรูปเสือ ถุงเป้งสามชั้น ในเหลือง กลางขาว นอกดำ
คนเกิดปีเหม้า (เถาะ) ให้ใช้เป้งรูปกระต่าย ถุงเป้งสองชั้น นอกขาว ในเหลืองสายแดง
คนเกิดปีสี (มะโรง) ให้ใช้เป้งรูปพญานาค ถุงเป้งสองชั้น ในแดง นอกดำ
คนเกิดปีใส้ (มะเส็ง) ให้ใช้เป้งรูปงู ถุงเป้งสองชั้น นอกเขียว ในขาว
คนเกิดปีสะง้า (มะเมีย) ให้ใช้เป้งรูปม้า ถุงเป้งสามชั้น ในแดง กลางเหลือง นอกขาว
คนเกิดปีเม็ด (มะแม) ให้ใช้เป้งรูปแพะ ถุงเป้งสองชั้น ในหม่น นอกขาว
คนเกิดปีสัน (วอก) ให้ใช้เป้งรูปลิง ถุงเป้งสามชั้น นอกแดง กลางขาว ในเหลือง
คนเกิดปีเร้า (ระกา) ให้ใช้เป้งรูปไก่ ถุงเป้งสองชั้น นอกหม่น ในขาว สายเหลือง
คนเกิดปีเส็ด (จอ) ให้ใช้เป้งรูปหมา ถุงเป้งสองชั้น นอกเหลือง ในขาว
คนเกิดปีไก๊ (กุน) ให้ใช้เป้งช้าง ถุงเป้งสองชั้น ในขาว นอกเหลือง สายเขียวหรือแดง
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
ที่มา :
- นวรัตน์ เลขะกุล. (๒๕๔๗). เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ กรุงเทพฯ: สารคดี.
- ระบบการชั่ง ล้านนา. (มปป). ธนาคารแห่งประเทศไทย. ค้นเมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.bot.or.th/.../BOT.../Northern/Pages/T-scale.aspx



















(จำนวนผู้เข้าชม 9862 ครั้ง)