นอกจากที่เที่ยวดังๆ ของเมืองกาญจน์อย่าง สะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี อนุสรณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา หรือ น้ำตกเอราวัณ แล้ว ที่กาญจนบุรียังมีศิลปะยุคโบราณอย่างปราสาทหินอีกด้วยค่ะ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมีที่นี่ โดยปกติแล้ว เรามักเห็นศิลปะ หรือ สถาปัตยกรรมแบบขอมในแถบจังหวัดทางภาคอีสานของบ้านเราเป็นส่วนใหญ่ แต่น้อยนักที่จะเห็นสถาปัตยกรรมขอมในแถบทางภาคตะวันตก ซึ่ง อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ หรือ ปราสาทเมืองสิงห์ แห่งนี้ก็เป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวที่เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบขอม ที่ตั้งอยู่ในเมืองกาญจนบุรี ค่ะ
รู้จักปราสาทเมืองสิงห์
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ นี้ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยใน ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ค่ะ ปราสาทเมืองสิงห์ นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน ซึ่งมีสถาปัตยกรรม และปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชาอีกด้วย
จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จารึกชื่อเมือง 23 เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อ ศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือเมือง ปราสาทเมืองสิงห์ นี่เอง
นอกจากนี้ยังมีอีกแนวความคิดเกี่ยวกับที่มาของปราสาทเมืองสิงห์ที่เชื่อว่า น่าจะเป็นการก่อสร้างเลียนแบบปราสาทขอม สมัยหลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และไม่น่าจะเกี่ยวข้องอันใดกับชื่อเมืองศรีชัยสิงห์บุรี หรือศรีชัยสิงห์บุรี ในจารึก เนื่องจากเห็นว่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขาดความสมดุล และความลงตัว อีกทั้งเกิดความคลาดเคลื่อนในการวางตำแหน่งอาคาร ตลอดจนจารึกที่ฐานหินทรายรองรับประติมากรรมเป็นตัวอักษรและภาษาขอมสมัยหลังเมืองพระนคร หรือหลังจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ค่ะ
เดินชิลล์เที่ยวชมสถาปัตยกรรม
เมื่อเราเข้ามาภายในบริเวณปราสาทเมืองสิงห์จะมีป้าย QR Code หลากหลายภาษาทั้ง ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และจีน อำนวยความสะดวก แนะนำประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญต่างๆ ของปราสาทเมืองสิงห์ให้กับนักท่องเที่ยวค่ะ
โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์นั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น
โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณใจกลางกลุ่มโบราณสถานค่ะ และประกอบด้วยสิงห์สำคัญคือ ปรางค์ประธาน ระเบียงคด โคปุระ บรรณศาลา และกำแพงแก้ว
โบราณสถานหมายเลข 2 ลักษณะคล้ายคลึงกันกับโบราณสถานหมายเลข 1 ค่ะ มีปรางค์ประธาน โคปุระ 4 ด้าน แต่พังลงมามากบูรณะได้น้อย และเป็นสถานที่ขุดพบเทวรูป
โบราณสถานหมายเลข 1 และโบราณสถานหมายเลข 2 เป็นอาคารที่สันนิษฐานว่า เป็นศาสนสถานที่สำคัญ มีองค์ปรางค์ประธานตั้งอยู่กลางอาคารและเป็นที่ตั้งของรูปเคารพที่สำคัญอีกด้วย การก่อสร้างใช้ศิลาแลงเป็นส่วนวัสดุสำคัญนั่นเอง
โบราณสถานหมายเลข 3 โบราณสถานแห่งนี้อยู่บริเวณนอกกำแพงแก้ว มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กสร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า เป็นเจดี 2 องค์
โบราณสถานหมายเลข 4 ตั้งอยู่ใกล้หมายเลข 3 ยังบูรณะอยู่ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า การก่อสร้างอาคารใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุสำคัญ
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งขุดค้นพบทั้งโครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด ดินเผา เครื่องมือเหล็ก สร้อยคอทำด้วยลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ซึ่งชี้ชัดว่าชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะสร้างเมืองสิงห์ เพราะเป็นศพของคนที่ตายมา 2,000 ปีแล้ว สันนิษฐานว่าคงจะยุคเดียวกับคนในชุมชนบ้านเก่าค่ะ
นอกจากนี้ภายในอาคารจัดแสดงวัตถุ ได้มีการจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบในบริเวณปราสาทเมืองสิงห์อีกมากมายค่ะ ทั้งศีรษะพระศิวะ แม่พิมพ์พระพุทธรูป ภาชนะดินเผา และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งเป็นรูปจำลอง เพราะกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครค่ะ
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่ที่ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 เส้นทางสายกาญจนบุรี – ไทรโยค จนถึงกิโลเมตรที่ 15 จะมีทางแยกซ้ายไปปราสาทเมืองสิงห์อีก 7 กิโลเมตร
(จำนวนผู้เข้าชม 64249 ครั้ง)