...

มังรายศาสตร์
มังรายศาสตร์
 หลังจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ปกครองและประทับอยู่เมืองนี้ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงวางรากฐานความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ล้านนาหลายประการ ด้านการเมืองการปกครองนั้น พญามังรายทรงปกครองล้านนาโดยใช้กฎหมายที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ ซึ่งใช้สืบต่อกันมาตลอดราชวงศ์มังราย
 มังรายศาสตร์ เป็นกฎหมายโบราณของล้านนาที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพญามังราย เนื้อหาในเล่มถูกคัดลอกจากข้อความเดิมต่อ ๆ กันมา บางตอนมีข้อความเพิ่มเติมเข้าไปในสมัยหลัง มังรายศาสตร์มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วินิจฉัยมังราย หมายถึง การตัดสินหรือคำพิพากษาของพญามังราย ถูกรวบรวมและเรียบเรียงมาจากกฎในธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์กฎหมายเก่าแก่ของอินเดีย เนื้อหาต่าง ๆ มีที่มาจากจารีตประเพณีของสังคม เช่น ความเชื่อ ค่านิยม อันเป็นบรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
เนื้อหาในมังรายศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพญามังราย ความมุ่งหมายในการเขียน มีการบัญญัติกฎหมายไว้ ๒๗ หมวดหมู่ ได้แก่ หนีศึก คนตายกลางสนามรบ รบศึกกรณีได้หัวและกรณีไม่ได้หัวข้าศึกมา เสนาอมาตย์ตาย ให้ไพร่มีเวรผลัดเปลี่ยนกัน ไพร่กู้เงินขุน ไพร่สร้างไร่นา ไพร่ที่ขุนไม่ควรรับไปเป็นข้า ข้าขอรับมรดก ข้าพระยาไปอยู่กินกับไพร่ ลักษณะนายที่ดีและนายที่เลว ความผิดร้ายแรงซึ่งยอมให้ฆ่าผู้กระทำผิดได้  โทษประหารชีวิต โทษหนักสามสถาน การพิจารณาความให้ดูเหตุ ๔ ประการ ตัดสินความไม่ถูกต้องอันควรเพิกถอนเสีย ๘ ประการ อายุความยี่สิบปี สาเหตุวิวาทกัน ๑๖ ประการ ลักษณะหมั้น ลักษณะหย่า การแบ่งสินสมรส ลักษณะมรดก ลักษณะหนี้ ลักษณะวิวาท (ด่ากันตีกัน) ลักษณะใส่ความกัน ลักษณะลักทรัพย์และลักพา ลักษณะซ่อน อำ และลัก โดยในแต่ละหมวดยังแบ่งออกเป็นลักษณะกฎหมายเรื่องต่าง ๆ อีก บทลงโทษในมังรายศาสตร์ ส่วนมากเป็นโทษปรับไหม นอกจากนี้จะมีการเฆี่ยน การริบทรัพย์ ส่วนโทษหนัก คือ การประหารชีวิต ตัดตีนตัดมือ เอาไปขายเสียต่างเมืองหรือขับออกจากเมือง
มังรายศาสตร์ฉบับที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ฉบับลานนาสีโหภิกขุ จากวัดเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ฉบับที่สอง เป็นของคุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ ซึ่งคัดจากต้นฉบับของกงสุลฝรั่งเศส ประจำเชียงใหม่ ฉบับที่สาม จากวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่สี่ เก็บรักษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มังรายศาสตร์ทั้งสี่ฉบับเขียนด้วยตัวหนังสือพื้นเมืองลานนาไทยหรือตัวไทยยวน นับว่ามังรายศาสตร์มีคุณค่าในแง่มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกชิ้นหนึ่ง ที่ให้คุณค่าทางนิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงสอดแทรกคุณค่าทางจริยธรรมเข้าไปด้วย
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. ประเสริฐ ณ นคร. ๒๕๑๔. มังรายศาสตร์. กรุงเทพฯ : เลี่ยงเซียงจงเจริญ. (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงโหตรกิตยานุพัทธ์ (อาสา โหตระกิตย์) ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ๔ เมษายน ๒๕๑๔).
๒. กรมศิลปากร. ๒๕๖๐. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๓ จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗).
๓. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ๒๕๔๔. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
๔. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. ม.ป.ป. ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ (ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (สมัยราชวงศ์มังราย และสมัยพม่าปกครอง). ม.ป.ท.
๕. อดิศร ศักดิ์สูง. ๒๕๕๐. “ผู้หญิงในกฎหมายมังรายศาสตร์.” วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. ๒ (๑) : ๗๒-๙๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 11880 ครั้ง)


Messenger