เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม ตอน สัตตภัณฑ์
เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม
ตอน สัตตภัณฑ์
สัตตภัณฑ์ คือ พุทธศิลป์ของชาวล้านนา มีจุดกำเนิดจากวัฒนธรรมและความเชื่อที่ผสมผสานกัน ซึ่งบรรจุความเชื่อและความศรัทธาลงบนเชิงเทียนที่ใช้ประกอบพิธีกรรม สัตตภัณฑ์ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี จำนวน ๒ คำ คือคำว่า สตฺต แปลว่า เจ็ดหรือจำนวนเจ็ด และ ภณฺฑ แปลว่า เครื่องใช้ สิ่งของ สัตตภัณฑ์จึงมีความหมายว่า สิ่งของเครื่องใช้เจ็ดประการ หรือสิ่งของเครื่องใช้จำนวนเจ็ดอย่าง
การสร้างสัตตภัณฑ์มีที่มาจากความเชื่อ ๒ แนวคิด แนวคิดแรกเชื่อว่าเป็นการจำลองเชิงเทียนตามหลักศาสนา คือ หลัก โพชฌงค์ ๗ และแนวคิดที่สอง คือ การจำลองจากสัตตบริภัณฑ์คีรีเจ็ดชั้น ซึ่งเป็นภูเขาตามตำนานพุทธศาสนา เชื่อว่าตั้งอยู่กลางป่าหิมพานต์และล้อมเขาพระสุเมรุไว้ ในส่วนของลวดลาย มักเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ พระไตรปิฎก หรือสัตว์ที่มีความมงคลและเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา เช่น รูปพญานาค ครุฑ เหรา รุกขเทวดาและนางฟ้า พืชพรรณต่าง ๆ เป็นต้น
สัตตภัณฑ์ มีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ รูปแบบที่นิยมและพบเห็นทั่วไป คือ สัตตภัณฑ์รูปสามเหลี่ยม สัตตภัณฑ์รูปวงโค้งหรือครึ่งวงกลม และแบบขั้นบันได ซึ่งรายละเอียดของสัตตภัณฑ์แต่ละรูปแบบ จำแนกเป็นดังนี้
๑. สัตตภัณฑ์รูปสามเหลี่ยม เป็นสัตตภัณฑ์ที่มีลักษณะค่อนข้างใหญ่ มีเชิงเทียนปักเป็นชั้นลดหลั่นลงมา มักทำลวดลายพฤกษาพรรณไม้ กรอบด้านนอกเป็นลายตัวนาคทอดยาวลงมา ตกแต่งด้วยการเขียนสีประดับกระจก สัตตภัณฑ์รูปแบบนี้ถือเป็นเอกลักษณ์งานช่างของชาวเชียงใหม่
๒. สัตตภัณฑ์รูปโค้งหรือรูปครึ่งวงกลม ลักษณะคล้ายสัตตภัณฑ์รูปสามเหลี่ยม แต่ส่วนยอดจะมนเป็นวงโค้งคล้ายตัวเตียงดูเป็นวงกลม มียอดเสา ๗ ยอด กรอบด้านข้างไม่นิยมลวดลายนาค แต่จะตกแต่งนาคไว้ภายในเป็นลายคดเคี้ยวหรือเครือเถาพรรณพฤกษา ราหูอมจันทร์ เป็นต้น สัตตภัณฑ์รูปแบบนี้พบมากในจังหวัดลำพูนและลำปาง เช่น สัตตภัณฑ์ในวัดช่างฆ้อง จังหวัดลำพูน
๓. สัตตภัณฑ์รูปขั้นบันได หรือเรียกว่า สัตตภัณฑ์ขั้นบันไดแก้ว ขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร มักไม่มีการแกะสลักมากนัก แต่ตกแต่งด้วยการปิดทองหรือทาสีโดยใช้กระดาษฉลุ และพบยอดเสาประดับได้ตั้งแต่ ห้ายอด เจ็ดยอด หรือถึงเก้ายอด พบว่าเป็นฝีมือช่างชาวแพร่และชาวน่านซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ
นอกจากนั้นพบว่าสัตตภัณฑ์ มีรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น สัตตภัณฑ์แบบห้าเหลี่ยม ตัวโครงสร้างเป็นแผงห้าเหลี่ยมปิดทับแล้วมียอดเสาจำนวนเจ็ดยอดด้านบน และสัตตภัณฑ์แบบเสา ที่มีลักษณะเป็นเชิงเทียนเป็นเสาทั้งสิ้นเจ็ดเสาลดหลั่นความสูงลงมา
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
อ้างอิง :
๑. ประทีป และ ญาตาวีมินทร์ พืชทองหลาง. ๒๕๖๒. “สัตตภัณฑ์ : พุทธศิลป์ถิ่นล้านนา.” วารสารพื้นถิ่นโขง ชี มูล ๖ (๑): ๖๕-๑๑๖.
๒. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. ๒๕๖๐. “สัตตภัณฑ์และตุงกระด้าง เครื่องประกอบพิธีทางศาสนาของล้านนา” เชียงใหม่นิวส์ (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/571500/ , สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕.
๓. ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(๒๕๖๔). "ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : "สัตตภัณฑ์". มติชนออนไลน์ (Online). https://www.matichonweekly.com/column/article_397994 , สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕.
ตอน สัตตภัณฑ์
สัตตภัณฑ์ คือ พุทธศิลป์ของชาวล้านนา มีจุดกำเนิดจากวัฒนธรรมและความเชื่อที่ผสมผสานกัน ซึ่งบรรจุความเชื่อและความศรัทธาลงบนเชิงเทียนที่ใช้ประกอบพิธีกรรม สัตตภัณฑ์ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี จำนวน ๒ คำ คือคำว่า สตฺต แปลว่า เจ็ดหรือจำนวนเจ็ด และ ภณฺฑ แปลว่า เครื่องใช้ สิ่งของ สัตตภัณฑ์จึงมีความหมายว่า สิ่งของเครื่องใช้เจ็ดประการ หรือสิ่งของเครื่องใช้จำนวนเจ็ดอย่าง
การสร้างสัตตภัณฑ์มีที่มาจากความเชื่อ ๒ แนวคิด แนวคิดแรกเชื่อว่าเป็นการจำลองเชิงเทียนตามหลักศาสนา คือ หลัก โพชฌงค์ ๗ และแนวคิดที่สอง คือ การจำลองจากสัตตบริภัณฑ์คีรีเจ็ดชั้น ซึ่งเป็นภูเขาตามตำนานพุทธศาสนา เชื่อว่าตั้งอยู่กลางป่าหิมพานต์และล้อมเขาพระสุเมรุไว้ ในส่วนของลวดลาย มักเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ พระไตรปิฎก หรือสัตว์ที่มีความมงคลและเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา เช่น รูปพญานาค ครุฑ เหรา รุกขเทวดาและนางฟ้า พืชพรรณต่าง ๆ เป็นต้น
สัตตภัณฑ์ มีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ รูปแบบที่นิยมและพบเห็นทั่วไป คือ สัตตภัณฑ์รูปสามเหลี่ยม สัตตภัณฑ์รูปวงโค้งหรือครึ่งวงกลม และแบบขั้นบันได ซึ่งรายละเอียดของสัตตภัณฑ์แต่ละรูปแบบ จำแนกเป็นดังนี้
๑. สัตตภัณฑ์รูปสามเหลี่ยม เป็นสัตตภัณฑ์ที่มีลักษณะค่อนข้างใหญ่ มีเชิงเทียนปักเป็นชั้นลดหลั่นลงมา มักทำลวดลายพฤกษาพรรณไม้ กรอบด้านนอกเป็นลายตัวนาคทอดยาวลงมา ตกแต่งด้วยการเขียนสีประดับกระจก สัตตภัณฑ์รูปแบบนี้ถือเป็นเอกลักษณ์งานช่างของชาวเชียงใหม่
๒. สัตตภัณฑ์รูปโค้งหรือรูปครึ่งวงกลม ลักษณะคล้ายสัตตภัณฑ์รูปสามเหลี่ยม แต่ส่วนยอดจะมนเป็นวงโค้งคล้ายตัวเตียงดูเป็นวงกลม มียอดเสา ๗ ยอด กรอบด้านข้างไม่นิยมลวดลายนาค แต่จะตกแต่งนาคไว้ภายในเป็นลายคดเคี้ยวหรือเครือเถาพรรณพฤกษา ราหูอมจันทร์ เป็นต้น สัตตภัณฑ์รูปแบบนี้พบมากในจังหวัดลำพูนและลำปาง เช่น สัตตภัณฑ์ในวัดช่างฆ้อง จังหวัดลำพูน
๓. สัตตภัณฑ์รูปขั้นบันได หรือเรียกว่า สัตตภัณฑ์ขั้นบันไดแก้ว ขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร มักไม่มีการแกะสลักมากนัก แต่ตกแต่งด้วยการปิดทองหรือทาสีโดยใช้กระดาษฉลุ และพบยอดเสาประดับได้ตั้งแต่ ห้ายอด เจ็ดยอด หรือถึงเก้ายอด พบว่าเป็นฝีมือช่างชาวแพร่และชาวน่านซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ
นอกจากนั้นพบว่าสัตตภัณฑ์ มีรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น สัตตภัณฑ์แบบห้าเหลี่ยม ตัวโครงสร้างเป็นแผงห้าเหลี่ยมปิดทับแล้วมียอดเสาจำนวนเจ็ดยอดด้านบน และสัตตภัณฑ์แบบเสา ที่มีลักษณะเป็นเชิงเทียนเป็นเสาทั้งสิ้นเจ็ดเสาลดหลั่นความสูงลงมา
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
อ้างอิง :
๑. ประทีป และ ญาตาวีมินทร์ พืชทองหลาง. ๒๕๖๒. “สัตตภัณฑ์ : พุทธศิลป์ถิ่นล้านนา.” วารสารพื้นถิ่นโขง ชี มูล ๖ (๑): ๖๕-๑๑๖.
๒. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. ๒๕๖๐. “สัตตภัณฑ์และตุงกระด้าง เครื่องประกอบพิธีทางศาสนาของล้านนา” เชียงใหม่นิวส์ (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/571500/ , สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕.
๓. ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(๒๕๖๔). "ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : "สัตตภัณฑ์". มติชนออนไลน์ (Online). https://www.matichonweekly.com/column/article_397994 , สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 2059 ครั้ง)