...

เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม ตอน พับสา
เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม
ตอน พับสา
 พับสา หรือ ปั๊บสา เป็นสมุดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวจนกลายเป็นเอกสารของชาวล้านนา ที่มีความสำคัญรองจากคัมภีร์ใบลาน
พับสา ทำขึ้นจากต้นปอสา หากทำจากต้นข่อย จะเรียกชื่อว่า สมุดข่อย ในการทำสมุดมักทำความหนาและความกว้างให้เพียงพอต่อการบันทึกข้อความ
 พับสา แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ได้แก่
 ๑. พับสาลั่น มีลักษณะเป็นกระดาษสาแบบยาว พับซ้อนกันไปมาเป็นขั้น ๆ วิธีใช้ คือ เปิดพับขึ้นไปทีละด้าน สามารถบันทึกข้อความได้ทั้งสองด้าน มักทาเคลือบปกด้วยยางรักสีดำทั้งด้านหน้าปกและด้านหลังตัวเล่ม ขนาดตัวเล่ม ความกว้างไม่ต่ำกว่า ๔ นิ้ว ความยาวไม่ต่ำกว่า ๘ นิ้ว ทำให้สามารถบันทึกข้อความได้ประมาณ ๕ - ๘ บรรทัด
 ๒. พับสาก้อม มีลักษณะไม่ต่างจากพับสาลั่นนัก แต่สามารถพกพาไปตามที่ต่าง ๆ ได้ เนื่องจากพับสาก้อมมีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่าพับสาลั่น โดยมีความกว้างประมาณ ๓ นิ้ว ยาวไม่เกิน ๖ นิ้ว แต่ละหน้าสามารถบันทึกได้ สูงสุด ๕ บรรทัด
 ๓. พับหัว ใช้การเย็บหน้ากระดาษด้วยเชือกปอหรือฝ้ายในส่วนหัวของตัวเล่ม ทำให้มีลักษณะคล้ายสมุดฉีกในปัจจุบัน สามารถเปิดอ่านได้ทั้งสองหน้าพร้อมกัน คือ เปิดขึ้นไปด้านบนโดยตลอด พับหัวมีหลายขนาด ส่วนมากมักมีความกว้าง ๕ นิ้วหรือความยาวมากกว่า ๕ นิ้ว พับหัวจึงบันทึกได้หลายบรรทัดขึ้นอยู่กับความกว้างของตัวเล่ม
 การใช้ประโยชน์จากพับสานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบันทึกของชาวบ้าน ซึ่งบันทึกข้อความที่เป็นตำนานความเชื่อ ไสยศาสตร์ ยันต์ คาถา ตำรา และมีเพียงส่วนน้อยที่บันทึกเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น คำถวายทานต่าง ๆ หรือกรรมฐาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการใช้งานในพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน  
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ :
๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
ภาพพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกตการาม
๒. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๖๓. สมุดไทย : บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม.กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
อ้างอิง :
๑. พงศธร บัวคำปัน. ๒๕๕๙. การศึกษาวิเคราะห์คำสอนในพับสาคำขับไทลื้อ ฉบับน้อยพรหม เมืองยอง.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกศึกษา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
๒. ก่องแก้ว วีระประจักษ์. ๒๕๕๓. การทำสมุดไทยและการเตรียมใบลาน. กรุงเทพฯ: สหประชาพานิชย์.
๓. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๖๓. สมุดไทย : บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม.กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
๔. Tipitaka (DTP). ๒๕๕๙. “สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์” อยู่ในบุญ. ๑๕ (๑๖๙) : ๖๒ - ๖๖.








(จำนวนผู้เข้าชม 2851 ครั้ง)


Messenger