พระแสงราชศัสตราประจำเมือง
พระแสงราชศัสตราประจำเมือง
พระแสงราชศัสตรา เป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากพระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่ผู้ใดหมายความว่าพระองค์มีพระประสงค์ให้ผู้นั้นมีอำนาจเด็ดขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ในการใช้อำนาจราชสิทธิ์ มีความชอบธรรมในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม สามารถออกคำสั่งได้เด็ดขาดทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการตัดสินพิพากษาลงโทษด้วยการสั่งประหารชีวิตได้ โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลให้ทราบก่อน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระแสงราชศัสตราสำหรับพระราชทานไว้ประจำหัวเมือง เพื่อเป็นที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินถึงและประทับค้างแรม ณ เมืองนั้น ๆ โดยมีพระราชประสงค์หลักที่จะให้พระแสงราชศัสตราเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์และใช้สำหรับแทงน้ำในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในหัวเมือง และมีพระราชกำหนดว่าเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับในจังหวัดใด ให้ถวายพระแสงราชศัสตรามาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้น การพระราชทานพระแสงราชศัสตราดังกล่าวจึงไม่ได้หมายถึงการให้อำนาจเฉพาะบุคคลเหมือนในกาลก่อน
ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองได้สืบทอดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำหัวเมืองต่าง ๆ รวม ๓๒ องค์ ได้แก่
๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๑๓ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ มณฑลกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์ เมืองพิจิตร มณฑลพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองกำแพงเพชร เมืองตราด มณฑลจันทบุรี และมณฑลปราจีน
๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๑๓ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองนราธิวาส เมืองสายบุรี มณฑลปัตตานี มณฑลนครศรีธรรมราช เมืองตรัง เมืองนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองระนอง มณฑลภูเก็ต และมณฑลนครชัยศรี
๓. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๖ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองแพร่ เมืองลำปาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และเมืองพังงา
พระแสงราชศัสตราดังกล่าวเก็บรักษาไว้ประจำเมืองที่ได้รับพระราชทาน ยกเว้นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิชัยและเมืองสายบุรี เก็บรักษาไว้ที่สำนักพระราชวัง เนื่องจากเมืองถูกยุบเป็นอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์และปัตตานี ตามลำดับ
ปัจจุบัน แม้ว่าไม่มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองต่าง ๆ เพิ่มอีก แต่ยังคงมีการสืบทอดธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของการถวายพระแสงราชศัสตราแก่พระมหากษัตริย์อยู่ โดยจังหวัดใดที่เคยได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอัญเชิญพระแสงราชศัสตราประจำเมืองทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคืนไว้ประจำพระองค์ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานหรือประกอบพระราชพิธีสำคัญ ณ จังหวัดนั้น ๆ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจึงพระราชทานคืนไว้แก่จังหวัดนั้นดังเดิม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนในการรับพระราชทานคืนตามธรรมเนียมเดิม
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
๑. กรมศิลปากร. ๒๕๓๙. พระแสงราชศัสตราประจำเมือง. กรุงเทพฯ: เกรท โปร กราฟฟิค.
๒. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และ สถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๕๘. จดหมายเหตุเสด็จพระราช
ดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
๓. สถาบันดำรงราชานุภาพ. ๒๕๕๐. โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของผู้ว่าราชการจังหวัด”. ม.ป.ท.
๔. ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์. ม.ป.ป. “สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคลยิ่งประจำเมือง.” สกุลไทย (Online). http://www.sakulthai.com/magazine/reader/14871, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕.
พระแสงราชศัสตรา เป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากพระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่ผู้ใดหมายความว่าพระองค์มีพระประสงค์ให้ผู้นั้นมีอำนาจเด็ดขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ในการใช้อำนาจราชสิทธิ์ มีความชอบธรรมในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม สามารถออกคำสั่งได้เด็ดขาดทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการตัดสินพิพากษาลงโทษด้วยการสั่งประหารชีวิตได้ โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลให้ทราบก่อน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระแสงราชศัสตราสำหรับพระราชทานไว้ประจำหัวเมือง เพื่อเป็นที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินถึงและประทับค้างแรม ณ เมืองนั้น ๆ โดยมีพระราชประสงค์หลักที่จะให้พระแสงราชศัสตราเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์และใช้สำหรับแทงน้ำในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในหัวเมือง และมีพระราชกำหนดว่าเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับในจังหวัดใด ให้ถวายพระแสงราชศัสตรามาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้น การพระราชทานพระแสงราชศัสตราดังกล่าวจึงไม่ได้หมายถึงการให้อำนาจเฉพาะบุคคลเหมือนในกาลก่อน
ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองได้สืบทอดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำหัวเมืองต่าง ๆ รวม ๓๒ องค์ ได้แก่
๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๑๓ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ มณฑลกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์ เมืองพิจิตร มณฑลพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองกำแพงเพชร เมืองตราด มณฑลจันทบุรี และมณฑลปราจีน
๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๑๓ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองนราธิวาส เมืองสายบุรี มณฑลปัตตานี มณฑลนครศรีธรรมราช เมืองตรัง เมืองนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองระนอง มณฑลภูเก็ต และมณฑลนครชัยศรี
๓. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน จำนวน ๖ องค์ แก่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองแพร่ เมืองลำปาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และเมืองพังงา
พระแสงราชศัสตราดังกล่าวเก็บรักษาไว้ประจำเมืองที่ได้รับพระราชทาน ยกเว้นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิชัยและเมืองสายบุรี เก็บรักษาไว้ที่สำนักพระราชวัง เนื่องจากเมืองถูกยุบเป็นอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์และปัตตานี ตามลำดับ
ปัจจุบัน แม้ว่าไม่มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองต่าง ๆ เพิ่มอีก แต่ยังคงมีการสืบทอดธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของการถวายพระแสงราชศัสตราแก่พระมหากษัตริย์อยู่ โดยจังหวัดใดที่เคยได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอัญเชิญพระแสงราชศัสตราประจำเมืองทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคืนไว้ประจำพระองค์ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานหรือประกอบพระราชพิธีสำคัญ ณ จังหวัดนั้น ๆ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจึงพระราชทานคืนไว้แก่จังหวัดนั้นดังเดิม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนในการรับพระราชทานคืนตามธรรมเนียมเดิม
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
๑. กรมศิลปากร. ๒๕๓๙. พระแสงราชศัสตราประจำเมือง. กรุงเทพฯ: เกรท โปร กราฟฟิค.
๒. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และ สถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๕๘. จดหมายเหตุเสด็จพระราช
ดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๙. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
๓. สถาบันดำรงราชานุภาพ. ๒๕๕๐. โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของผู้ว่าราชการจังหวัด”. ม.ป.ท.
๔. ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์. ม.ป.ป. “สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคลยิ่งประจำเมือง.” สกุลไทย (Online). http://www.sakulthai.com/magazine/reader/14871, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 3843 ครั้ง)