...

หลุก ระหัดวิดน้ำแบบชาวล้านนา
หลุก เป็นภาษาล้านนา หมายถึง กังหันวิดน้ำ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน สร้างด้วยไม้ไผ่ ลักษณะเป็นวงกลมขนาดใหญ่ มีแกนตรงกลางสร้างด้วยไม้แข็งทำเป็นรูปกงล้อ มีแผงไม้ไผ่อยู่รอบกงล้อเพื่อรับกระแสน้ำโดยรอบกงล้อจะมีกระบอกไม้ไผ่ผูกติดอยู่สำหรับใส่น้ำ เมื่อแผงไม้ไผ่ถูกกระแสน้ำพัด กงล้อที่มีแผงไม้ไผ่และมีกระบอกใส่น้ำจะตักน้ำเข้าในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อหมุนขึ้นไปด้านบนสุด น้ำที่อยู่ในกระบอกด้านบนสุดจะเทลงมาในลำราง หลุกใช้ในการเกษตรกรรม เช่น การหมุนเพื่อสาวถังตักน้ำขึ้นจากบ่อ หมุนเพื่อวิดน้ำเข้านา มักใช้งานตามริมแม่น้ำใหญ่มีตลิ่งสูง
ปัจจุบันหลุกไม่นิยมใช้อีกต่อไป เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่สิ้นเปลืองในการสร้าง และมีเทคโนโลยีที่มีความสะดวกเข้ามาทดแทน เช่น เครื่องสูบน้ำ แต่ยังปรากฏคำว่าหลุกอยู่ตามชื่อชุมชนที่เคยมีการใช้หลุกทำการเกษตรมาก่อน เช่น บ้านท่าหลุก ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่,บ้านท่าหลุก ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน และบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุดนายบุญเสริม สาตราภัย
อ้างอิง :
๑. มณี พยอมยงค์. ๒๕๔๖. สารพจนานุกรมล้านนา. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
๒. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. ๒๕๖๒. หลุกวิดน้ำของคนล้านนา (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/105389, สืบค้นเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔.
๓. ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ๒๕๖๑. ล้านนาคำเมือง : หลุก (Online). https://www.matichonweekly.com/column/article_102054, สืบค้นเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 8634 ครั้ง)