สิงห์คู่
สิงห์คู่
สิงห์หรือราชสีห์คู่ หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นสิงห์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะยืนอ้าปากกระดกลิ้น มีเครา หางตั้งม้วนเป็นขดบนกลางหลัง ระบายสีแดงก่ำและตกแต่งลายปูนปั้นสีขาว สร้างขึ้นพร้อมกับซุ้มโขง จากภาพถ่ายเก่าพบว่าเคยมีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวสิงห์ไว้ไม่ให้ชำรุด พร้อมสร้างศาลามีหลังคาคลุมไว้
ชาวล้านนาเรียกสิงห์หน้าวัดว่า “สิงห์ไถ่บาป” ซึ่งการทำรูปสิงห์ให้เป็นผู้เฝ้าศาสนสถานนี้ ตามความเชื่อของอินเดียโบราณมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีศากยมุนีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีสิงห์เป็นรูปสัญลักษณ์ จึงถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งงานพุทธศิลป์เกือบทุกส่วน รวมไปถึงการใช้สิงห์เฝ้าดูแลหน้าวัดเสมือนทวารบาล แต่ตำนานของชาวพม่าซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวล้านนาในช่วงระยะเวลากว่าสองศตวรรษ มีการผูกเรื่องให้พระธิดาของพระราชาองค์หนึ่งหายไปในป่า แล้วถูกนางสิงห์เลี้ยงดูเหมือนลูกอยู่หลายปี จนพระราชาตามมาพบแล้วพรากพระธิดาจากนางสิงห์มา นางสิงห์กรีดร้องโหยหวนและกลั้นใจตายเพราะไม่สามารถข้ามแม่น้ำติดตามพระธิดาได้ เป็นเหตุให้พระราชาสร้างอนุสาวรีย์นางสิงห์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นการขอขมา จึงเรียกว่า “สิงห์ไถ่บาป” สิงห์ที่อยู่หน้าวัดของชาวพม่าและล้านนาจึงมีลักษณะโก่งคอตะโกนร้องเรียกหาพระธิดา จากตำนานดังกล่าวสิงห์ไถ่บาป จะต้องเป็นเพศเมีย แต่สิงห์คู่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นสิงห์เพศผู้ ดังในโคลงนิราศหริภุญชัยเรียกว่า “มิคราช” ดังนั้น ตำนานเรื่องสิงห์ไถ่บาปน่าจะเป็นการผูกเรื่องขึ้นภายหลัง เนื่องจากพบสิงห์ไถ่บาปตามวัดต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นใหม่โดยชาวยองที่อพยพมาตั้งถิ่นในลำพูน
ก่อนที่จะมีการสร้าง “ขัวมุง” หรือสะพานมีหลังคาคลุมข้ามแม่น้ำกวงไปสู่ฝั่งเวียงยอง บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เดิมเคยมีสะพานชื่อ “ขัวท่าสิงห์” ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามรูปปั้นสิงห์ไถ่บาปที่ตั้งอยู่หน้าวัด
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ
ภาพ :
๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด เสด็จประพาสภาคเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๑.
๒. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด การประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน.
อ้างอิง :
๑. กรมศิลปากร. ๒๕๕๓. พระธาตุหริภุญชัย. กรุงเทพมหานคร: ถาวรกิจการพิมพ์.
๒. กรมศิลปากร. ๒๕๕๗. เที่ยวท่องส่องวัฒนธรรม: ลงใต้-ไปเหนือ. กรุงเทพมหานคร: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗).
สิงห์หรือราชสีห์คู่ หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นสิงห์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะยืนอ้าปากกระดกลิ้น มีเครา หางตั้งม้วนเป็นขดบนกลางหลัง ระบายสีแดงก่ำและตกแต่งลายปูนปั้นสีขาว สร้างขึ้นพร้อมกับซุ้มโขง จากภาพถ่ายเก่าพบว่าเคยมีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวสิงห์ไว้ไม่ให้ชำรุด พร้อมสร้างศาลามีหลังคาคลุมไว้
ชาวล้านนาเรียกสิงห์หน้าวัดว่า “สิงห์ไถ่บาป” ซึ่งการทำรูปสิงห์ให้เป็นผู้เฝ้าศาสนสถานนี้ ตามความเชื่อของอินเดียโบราณมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีศากยมุนีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีสิงห์เป็นรูปสัญลักษณ์ จึงถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งงานพุทธศิลป์เกือบทุกส่วน รวมไปถึงการใช้สิงห์เฝ้าดูแลหน้าวัดเสมือนทวารบาล แต่ตำนานของชาวพม่าซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวล้านนาในช่วงระยะเวลากว่าสองศตวรรษ มีการผูกเรื่องให้พระธิดาของพระราชาองค์หนึ่งหายไปในป่า แล้วถูกนางสิงห์เลี้ยงดูเหมือนลูกอยู่หลายปี จนพระราชาตามมาพบแล้วพรากพระธิดาจากนางสิงห์มา นางสิงห์กรีดร้องโหยหวนและกลั้นใจตายเพราะไม่สามารถข้ามแม่น้ำติดตามพระธิดาได้ เป็นเหตุให้พระราชาสร้างอนุสาวรีย์นางสิงห์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นการขอขมา จึงเรียกว่า “สิงห์ไถ่บาป” สิงห์ที่อยู่หน้าวัดของชาวพม่าและล้านนาจึงมีลักษณะโก่งคอตะโกนร้องเรียกหาพระธิดา จากตำนานดังกล่าวสิงห์ไถ่บาป จะต้องเป็นเพศเมีย แต่สิงห์คู่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นสิงห์เพศผู้ ดังในโคลงนิราศหริภุญชัยเรียกว่า “มิคราช” ดังนั้น ตำนานเรื่องสิงห์ไถ่บาปน่าจะเป็นการผูกเรื่องขึ้นภายหลัง เนื่องจากพบสิงห์ไถ่บาปตามวัดต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นใหม่โดยชาวยองที่อพยพมาตั้งถิ่นในลำพูน
ก่อนที่จะมีการสร้าง “ขัวมุง” หรือสะพานมีหลังคาคลุมข้ามแม่น้ำกวงไปสู่ฝั่งเวียงยอง บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย เดิมเคยมีสะพานชื่อ “ขัวท่าสิงห์” ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามรูปปั้นสิงห์ไถ่บาปที่ตั้งอยู่หน้าวัด
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ
ภาพ :
๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด เสด็จประพาสภาคเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๑.
๒. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด การประกวดภาพเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน.
อ้างอิง :
๑. กรมศิลปากร. ๒๕๕๓. พระธาตุหริภุญชัย. กรุงเทพมหานคร: ถาวรกิจการพิมพ์.
๒. กรมศิลปากร. ๒๕๕๗. เที่ยวท่องส่องวัฒนธรรม: ลงใต้-ไปเหนือ. กรุงเทพมหานคร: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗).
(จำนวนผู้เข้าชม 6836 ครั้ง)