...

เค้าสนามหลวง
เค้าสนามหลวง
หลังจากเชียงใหม่ขับไล่พม่าออกจากเมืองได้สำเร็จ ภายใต้การสวามิภักดิ์และความร่วมมือของพระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละ (โอรสเจ้าฟ้านครลำปาง) เชียงใหม่จึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามในฐานะเมืองประเทศราช เมื่อพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้แต่งตั้งพระเจ้ากาวิละขึ้นปกครองนครเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิละทรงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่จากการเป็นบ้านเมืองร้าง ให้เป็นศูนย์กลางการปกครองและทรงฟื้นฟูระบบการปกครองล้านนาให้มีเอกภาพดังเดิม มีการแต่งตั้งเสนาบดี ๔ ตำแหน่งเช่นเดียวกับขุนนางจตุสดมภ์ของส่วนกลาง และเค้าสนามหลวง เพื่อทำหน้าที่ถวายข้อคิดเห็นตามที่มีทรงหารือ
คำว่า “เค้าสนามหลวง” หรือ “เค้าสนาม” ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุและหนังสือทั่วไป (เรียกชื่ออื่นได้ว่า ข่วง ข่วงสนาม หรือสนาม) ซึ่งคำนี้เป็นคำในภาษาถิ่นพายัพและเป็นคำโบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด
ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า เค้าสนามหลวง (ถิ่น-พายัพ; โบ)
น. สำนักผู้ปกครองบ้านเมือง ที่ว่าราชการเมือง คณะผู้ว่าการบ้านเมืองซึ่งประกอบด้วย เจ้าผู้ครองเมืองหรือผู้ครองเมืองข้าหลวงประจำนครหรือเมือง ซึ่งต่อมาเรียกว่า ปลัดมณฑลประจำจังหวัด และข้าหลวงผู้ช่วย มีหน้าที่บังคับบัญชารับผิดชอบในกิจการทั่วไปของเมือง เค้าสนาม ก็ว่า
อรวรรณ ภิรมจิตรผ่อง (อ้างถึง สินชัย กระบวนแสง, ๒๕๔๕) อธิบายคำว่า เค้าสนาม ว่า เป็นชื่อเรียกคณะบุคคลคณะหนึ่งที่ทำงานสำคัญต่าง ๆ ถวายพระเจ้าเชียงใหม่
วรชาติ มีชูบท อธิบายคำว่า เค้าสนามหลวง หรือที่ภาษาถิ่นล้านนาออกเสียงว่า เก๊าสนามหลวง หรือ เก๊าสนาม นั้น คือ องค์คณะขุนนางผู้ทำหน้าที่บริหารราชการบ้านเมือง เปรียบได้กับเสนาบดีจตุสดมภ์และลูกขุน ณ ศาลา และลูกขุน ณ ศาลหลวง  
จินตนา กิจมี กล่าวถึงพื้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ว่า “...เดิมเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๖ ถึงเจ้าเทพไกรสร พระธิดา ซึ่งเสกสมรสกับเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ซึ่งทรงใช้เป็น “หอคำ” ซึ่งอยู่ในบริเวณคุ้มกลางเวียง หรือ “เค้าสนามหลวง” สำนักผู้ปกครองบ้านเมือง หรือที่ว่าราชการเมืองในสมัยนั้น...”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายรวมหัวเมืองประเทศราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปการปกครองในหัวเมืองฝ่ายเหนือ อันประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และเมืองลำปางขึ้นเป็นหัวเมืองลาวเฉียง โดยทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ไปบัญชาการการปฏิรูป ซึ่งทรงมีนโยบายปรับปรุงรูปแบบการปกครองให้มีความสอดคล้องกับการปกครองตามประเพณีเดิม โดยคงเค้าสนามไว้ แต่ตั้งกรมใหม่ขึ้น ๖ กรม ได้แก่ กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา มีตำแหน่งเสนาทำหน้าที่เป็นเจ้ากรมเค้าสนาม มีหน้าที่คัดเลือกเจ้านายท้องถิ่น ขุนนางท้องถิ่น มาดำรงตำแหน่งเสนา เสนารอง แล้วเสนอให้พระเจ้าเชียงใหม่ทรงแต่งตั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เชียงใหม่ยังคงใช้ระบบปกครองให้สอดคล้องกับประเพณีเดิม โดยมีเค้าสนามเป็นคณะกรรมการบริหารและเสนา ๖ ตำแหน่งตามเดิม แต่ได้ยุบตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมไป จนตำแหน่งเค้าสนามและเสนาทั้ง ๖ หมดไป
ในส่วนของเอกสารจดหมายเหตุ พบในเอกสารสำคัญหลายฉบับที่ระบุถึงคณะทำงาน “เค้าสนามหลวง” ยกตัวอย่างเช่น เอกสารที่กล่าวถึงการเสด็จฯ นครเชียงใหม่ชั่วคราวของเจ้าดารารัศมี ในปี ร.ศ. ๑๒๗ – ๑๒๘ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๑) พบว่า เมื่อมีคำสั่งเรื่องการเสด็จนครเชียงใหม่ของพระนางเจ้าดารารัศมี ทางส่วนราชการได้มอบหมายให้คณะทำงานเค้าสนามหลวง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ คณะทำงานเค้าสนามหลวง จึงได้สั่งการแก่กองตำรวจภูธรนครเชียงใหม่เรื่องการรับเสด็จและการจัดริ้วกระบวนดำเนินการต่อไป
ผู้เรียบเรียง: นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ และนางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
อ้างอิง:
๑. กรมศิลปากร. ๒๕๖๐. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๓ จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗).
๒. จินตนา  กิจมี.  ๒๕๖๒. “เค้าสนามหลวง.” ใน วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ (บรรณาธิการ).  เชียงใหม่ นครแห่งอมต.  เชียงใหม่: บริษัท วิทอินดีไซน์ จำกัด, ๖๕-๗๒.
๓. ราชบัณฑิตยสถาน.  ๒๕๕๔.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔.  พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้น.
๔. วรชาติ มีชูบท.  ๒๕๕๖.  เจ้านายฝ่ายเหนือและตำนานรักมะเมียะ.  กรุงเทพมหานคร: เอ.พี.กราฟิคดีไซน์และการพิมพ์.
๕. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.  เอกสารการจัดเตรียมต้อนรับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๔๕๒.  
๖. อรวรรณ  ภิรมจิตรผ่อง.  ๒๕๖๑.  “เค้าสนามหรือเค้าสนามหลวง.”  เดลินิวส์  (๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑): ๒๓.







(จำนวนผู้เข้าชม 2674 ครั้ง)