ประติมากรรมปูนปั้นลงรักปิดทอง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์กรุณาพระมหากัสสปะ
ประติมากรรมปูนปั้นลงรักปิดทอง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์กรุณาพระมหากัสสปะ
..
ณ วิหารน้อย วัดสรรพยาวัฒนาราม อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ได้ปรากฏงานศิลปกรรมอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พุทธศาสนิกชน และศาสนิกชนอื่น ๆ ได้สักการะหรือได้ชม เพื่อให้เห็นถึงความรู้ความศรัทธาของคนสมัยก่อนที่รังสรรค์งานศิลปกรรมนี้ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชม ซึ่งงานศิลปกรรมนั้น คือ
..
ประติมากรรมปูนปั้นลงรักปิดทอง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์กรุณาพระมหากัสสปะ
..
ซึ่งรูปแบบของประติมากรรมดังกล่าวที่ปรากฏนั้น ประกอบไปด้วย พระพุทธรูปในอิริยาบถไสยาสน์แบบหงายประดิษฐานอยู่ภายในหีบพระศพซึ่งรองรับด้วยฐานบัว พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันเหนือพระเพลา พระบาททั้งสองยื่นพ้นออกจากหีบพระศพ เบื้องพระบาทมีพระสาวกจำนวน 5 รูป ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน แต่มีพระสาวกรูปหนึ่งที่ประนมมือพร้อมโน้มกายกราบสักการะพระบาทของพระพุทธองค์
..
จากองค์ประกอบทั้งหมดแสดงให้เห็นได้ว่า ประติมากรรมนี้ สร้างขึ้นตามพุทธประวัติในปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉที่ 27 (ธาตุวิภัชนปริวรรต
การแจกพระบรมสารีริกธาตุ) คือเหตุการณ์หนึ่งในพุทธประวัติ ตอนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
..
ซึ่งประติมากรรมนี้แสดงเหตุการณ์ตอนที่ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์พร้อมด้วยเหล่ากษัตริย์แห่งแคว้นมัลละได้ปฏิบัติต่อสรีระของพระพุทธองค์ โดยการหุ้มห่อพระพุทธสรีระด้วยผ้าหนา 500 ชิ้น จากนั้นอัญเชิญไว้ในหีบพระศพทอง นำหีบพระศพขึ้นจิตกาธาน(เชิงตะกอนเผาศพ) เมื่อถึงเวลาที่เหล่ากษัตริย์แคว้นมัลละจะถวายพระเพลิงนั้นทำอย่างไรก็ไม่สามารถจุดไฟให้ติดได้ พระอนุรุทธ์จึงอธิบายว่า เทพยดาต้องการคอยให้พระมหากัสสปะมาถึงก่อน ครั้นต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะได้มาถึงสถานที่ตั้งพระพุทธสรีระก็ได้ทำการสักการะ เข้าไปสู่ทิศเบื้องพระบาทของหีบพระศพ โดยถวายอัญชลี ในขณะนั้นจึงบังเกิดปาฏิหาริย์ พระบาทของพระพุทธองค์ยื่นพ้นจากหีบพระศพมารับการสักการะในทันใด พระมหากัสสปะ จึงเข้าไปสัมผัสและนบพระบาทด้วยเศียรเกล้า
..
เมื่อพระมหากัสสปเถระพร้อมด้วยบริวารและมหาชนทั้งหลายถวายนมัสการพระบาทเสร็จแล้ว พระบาททั้งสองก็กลับเข้าไปยังหีบพระศพเช่นเดิม ด้วยอำนาจของเทวดาเพลิงจึงลุกขึ้นไหม้พระพุทธสรีระ
..
จากพุทธประวัติดังกล่าวที่ปรากฏในปฐมสมโพธิกถา จึงสอดคล้องกับประติมากรรมดังกล่าวในวิหารน้อย วัดสรรพยาวัฒนาราม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเพราะเป็นประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์กรุณาพระมหากัสสปะ ที่พบได้ไม่มากนักในประเทศไทย
..
ซึ่งอายุสมัยของวิหารน้อยและประติมากรรมดังกล่าวอยู่ในศิลปะรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕
(จำนวนผู้เข้าชม 1327 ครั้ง)