ร่องรอย อวโลกิเตศวร แห่งเมืองชัยนาท
ร่องรอย อวโลกิเตศวร แห่งเมืองชัยนาท
ณ วัดโพธาราม ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ได้ปรากฎพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปของวัด เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถสมาธิ อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิราบ ครองจีวรห่มเฉียง มีการปิดทองทั้งองค์ ซึ่งเมื่อดูผิวเผินก็คือพระพุทธรูปในอิริยาบถสมาธิทั่วไป แต่เมื่อสังเกตเพิ่มเติมจะพบว่า เศียรของพระพุทธรูปองค์นี้ มีลักษณะแปลกจากเศียรพระพุทธรูปทั่วไป คือ ถ้าเป็นเศียรพระพุทธรูปโดยทั่วไป จะประกอบไปด้วยเม็ดพระศก และรัศมีเป็นยอดแหลม แต่พระพุทธรูปองค์นี้กลับปรากฏลักษณะของมวยผมที่เรียกว่า “ชฎามงกุฎ” คือการมัดรวบเส้นผมเป็นมวยทรงกระบอกเหนือศีรษะ อันเป็นทรงผมที่มักปรากฏในพระโพธิสัตว์ มิใช่พระพุทธรูป
เมื่อสังเกตุบริเวณมวยผมของพระพุทธรูปองค์นี้ ก็พบว่ามีการประดับตกแต่งพระพุทธรูปสมาธิอยู่ที่มวยผมด้วย ด้วยลักษณะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เศียรของพระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นเศียรพระพุทธรูปเฉกเช่นพระพุทธรูปทั่วไป แต่รูปแบบของเศียรที่ปรากฎดังกล่าวมาข้างต้น กลับไปสอดคล้องกับลักษณะของเศียรพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ที่มีทรงผมแบบ “ชฎามงกุฎ” และมีพระอมิตาภะประดับอยู่ที่มวยผมนั่นเอง
จึงทำให้ทราบว่า แท้จริงแล้วนั้นพระพุทธรูปในอิริยาบถสมาธิองค์นี้ เป็นพระพระพุทธรูปที่มีเศียรเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเป็นพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธแบบมหายาน ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้สร้างได้สร้างองค์พระสมาธิขึ้นมาใหม่และนำเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีมาแต่เดิม มาต่อเป็นพระเศียรเพื่อเป็นรูปเคารพ ให้กับชาวบ้านย่านนี้ได้เคารพบูชา แต่เนื่องด้วยความผิดฝาผิดตัวในการซ่อมรูปเคารพดังกล่าว เลยทำให้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มักจะปรากฎในอิริยาบถยืนนั้น กลับกลายเป็นปรากฏในรูปแบบนั่งสมาธิ เฉกเช่นพระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเสียได้
แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองในแง่ของการอนุรักษ์ให้เศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้ คงอยู่ ในฐานะที่เป็นรูปเคารพที่ชาวบ้านบูชา ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ก็นับว่าดีไม่น้อย
ในท้ายที่สุดก็ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแห่งเมืองชัยนาท ที่เป็นรูปเคารพในวัฒนธรรมลพบุรี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะบายน ในย่านนี้
(จำนวนผู้เข้าชม 1044 ครั้ง)