หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท แห่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท แห่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
..
ภายในโถงจัดแสดงชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ได้ปรากฏการประดิษฐาน พระพุทธรูปโลหะสำริดปางมารวิชัย มีรูปแบบทางศิลปะแบบสุโขทัย อิทธิพลล้านนา ซึ่งพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยรูปแบบนี้จะเรียกว่า พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หมวดวัดตระกวน โดยพระพุทธรูปโลหะสำริดปางมารวิชัยองค์นี้ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
..
"หลวงพ่อเพชร" เป็นนามของพระพุทธรูปองค์นี้ที่ชาวชัยนาทขนานนามกันมาแต่เก่าก่อน การขนานนามว่าพลวงพ่อเพชรอาจเนื่องด้วยพระพุทธรูปองค์นี้ ประทับอยู่ในท่านั่งแบบขัดสมาธิ (ขัดสะหมาด) ซึ่งเป็นการนั่งแบบขัดสมาธิที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชร โดยมีรูปแบบการนั่ง คือ นั่งแบบคู้เข่าทั้งสองข้างให้แบะลงที่พื้นแล้วเอาขาไขว้กันทับฝ่าเท้า โดยเอาฝ่าเท้าทั้งสองข้างขึ้นข้างบน จึงนำชื่อท่านั่งขัดสมาธิดังกล่าวมาเรียกเป็นนามของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเพชร”
..
หลวงพ่อเพชร มีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๒ เซนติเมตร และมีความสูงนับจากฐานขึ้นไปจนถึงพระรัศมี ๘๕ เซนติเมตร
..
เดิมทีหลวงพ่อเพชร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยนาท ก่อนที่พระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และเป็นอดีตเจ้าอาวาส วัดพระบรมธาตุวรวิหาร จะมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี กรมศิลปากร เก็บรักษาและดูและมาจวบจนปัจจุบัน
..
พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชร ประกอบด้วย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง สายพระเนตรทอดลงต่ำ พระปรางอิ่ม พระโอษฐ์เป็นรูปกระจับ พระหนุเป็นปม พระกรรณยาว เม็ดพระศกรูปก้นหอยเวียนขวา อุษณีษะนูนสูง พระรัศมีเป็นต่อมกลมคล้ายดอกบัวตูม ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระอุระกว้าง บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา พาดผ้าสังฆาฏิบนพระอังสาซ้าย ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ปลายของชายสังฆาฏิตกลงมาเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์เรียว
..
พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรนั้น เดิมถูกพอกปูนไว้ ต่อมาปูนกะเทาะออก จึงทราบว่าเป็นพระพุทธรูปสำริด ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนิน วัดพระบรมธาตุวรวิหารได้ตรัสขอพระพุทธรูปองค์นี้ ต่อพระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหาร สุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ (ช้าง) เจ้าอาวาสในตอนนั้น นำไปประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพมหานคร ภายหลังเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหาร สุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ หรือหลวงพ่อช้าง จึงทูลขอนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหารดังเดิม
..
หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปโบราณที่หาได้ยาก อีกทั้งยังมีคุณค่าโดดเด่นทางด้านศิลปะและเชิงช่าง ที่แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการหล่อพระพุทธรูปโลหะ ที่ประกอบด้วยสุนทรียะเฉพาะตัว กล่าวได้ว่าหลวงพ่อเพชรนั้น เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่า ในทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างยิ่ง และยังเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวชัยนาทมาจวบจนปัจจุบันกาล
.....
ขอขอบคุณ คุณทศพร ทองคำ มา ณ โอกาสนี้ ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่าย
(จำนวนผู้เข้าชม 2863 ครั้ง)