โบราณสถานนอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านตะวันออก
วัดช้างล้อม
      ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของคลองแม่ลำพัน ได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้เขียนเล่าเหตุการณ์ในระหว่างก่อน พุทธศักราช ๑๙๐๕ - ๑๙๓๓ ว่า พนมไสดำผัวแม่นมเทด เป็นขุนนางผู้จงรักภักดีต่อพระมหาธรรมราชาลิไท มีใจศรัทธาออกบวชตามพระมหาธรรมราชาลิไท และได้
อุทิศที่ดินของตนสร้างวิหาร ในปี พุทธศักราช๑๙๓๓ สร้างพระพุทธรูป หอพระไตรปิฎก ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ อุทิศบุญกุศล ถวาย
แด่พระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว และสร้างพระพุทธรูปหินอุทิศบุญกุศลถวายแด่ มหาเทวี พระขนิษฐาของพระมหาธรรมราชาลิไทผู้เคยปกครองเมืองสุโขทัย
      โบราณสถานวัดนี้มีพื้นที่กว้างขวาง มีคูน้ำล้อมรอบ นอกคูน้ำห่างไปทางตะวันออกมีพระอุโบสถที่มีน้ำล้อมรอบเรียกว่า อุทกสีมา
หรือนทีสีมา เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มาก เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ที่ฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อมจำนวน ๓๒ เชือก มีลาย
ประทักษิณโดยรอบ ที่วิหารหน้าเจดีย์มีพระพุทธรูปปูนปั้นชำรุดมากแล้ว สิ่งก่อสร้างอื่นก็มี เจดีย์ราย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชั้นหนึ่ง
ก่อนชั้นของคูน้ำ



 

วัดตระพังทองหลาง
     วัดโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ที่ตั้งโบราณสถานอยู่ในวัดตระพังทองหลางซึ่งเป็นวัดสมัยปัจจุบันซ้อนทับวัดโบราณอยู่
ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าสร้างในสมัยใด มีมณฑปประกอบวิหารที่งดงามแห่งหนึ่งของสุโขทัย มีเจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบ และ
พระอุโบสถอยู่ทางตะวันออก วัดนี้ไม่มีเจดีย์ประธาน แต่ใช้มณฑปทำหน้าที่เหมือนเป็นเจดีย์ประธานอันเป็นลักษณะเฉพาะแบบหนึ่ง
ของการสร้างวัดที่สุโขทัย
      มณฑปก่อด้วยอิฐ เป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันชำรุด
หมดแล้ว มณฑปด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู อีกสามด้านเป็นผนังที่ประดับด้วยปูนปั้น เป็นเรื่องตามพุทธประวัติที่ชำรุดเกือบหมด
แล้ว แต่จากหลักฐานที่บันทึกเป็นภาพถ่ายเก่าทำให้ทราบเรื่องราวได้ดังนี้
      ผนังด้านเหนือ เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าทรมานช้างนาฬาคีรี โดยปั้นรูปพระพุทธองค์ประทับยืนเคียงข้างด้วยอัครสาวกคือ
พระอานนท์ ที่ปลายพระบาทของพระพุทธเจ้ามีร่องรอยให้ทราบว่าเป็นหัวเข่าช้าง ซึ่งคุกเข่ายอมแพ้พระพุทธเจ้า
      ผนังด้านใต้ เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาปั้นรูปพระพุทธเจ้า
ในท่าลีลา มีพระอินทร์กับพระพรหมและเหล่าทวยเทพตามเสด็จมาส่ง ได้มีการถอดพิมพ์ภาพปูนปั้นนี้ขณะที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า
จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย
      ผนังด้านตะวันตก เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าโปรดเทศนาสั่งสอนพวกศากยวงศ์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ขณะทรงสั่งสอนทรงแสดงยมก
ปาฏิหาริย์ เป็นรูปรัศมีเปลวไฟล้อมรอบพระพุทธองค์และมีรูปบรรดาพระญาติแวดล้อมอยู่ภายนอกรูปรัศมีนั้น
      บรรดาภาพปูนปั้นเหล่านี้แสดงถึงลักษณะศิลปะสุโขทัยที่เจริญสูงสุด หรือที่เรียกว่ายุคทองของศิลปะสุโขทัย ซึ่งอายุอยู่ในราว
กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐


 

วัดเจดีย์สูง
     ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง อยู่ถัดจากวัดตระพังทองหลางไปทางตะวันออก ชื่อของวัดคงเรียกตามลักษณะของเจดีย์ประธานในวัด
ที่ตั้งอยู่บนฐานสูง ฐานเจดีย์กว้างขนาด ๑๔ x ๑๔ เมตร ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงระฆัง ส่วนฐานก่อเป็นแท่นสูง ย่อมุมไม้ยี่สิบ ลักษณะ
คล้ายกับผนังของมณฑปแต่ก่อทึบทุกด้าน
     วัดเจดีย์สูงน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลายแล้ว โดยดูจากลักษณะการทำฐานสูง และลักษณะของเครื่องเจดีย์
ทั้งองค์ ก็พัฒนาการต่อมาจากเจดีย์จำลองทำด้วยสำริดที่ได้จากวัดสระศรี และเจดีย์เอนที่เมืองศรีสัชนาลัย


(จำนวนผู้เข้าชม 1295 ครั้ง)