โบราณสถานนอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านเหนือ
วัดพระพายหลวง
      ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณด้านเหนือ เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง เพราะมี
สิ่งก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของเมืองสุโขทัย และก่อสร้างเพิ่มเติมสืบต่อกันมาจนถึงสมัย
สุโขทัยตอนปลาย
      กลุ่มโบราณสถานวัดพระพายหลวงตั้งอยู่ตรงกลางในพื้นที่ที่มีคูน้ำล้อมรอบ คูน้ำแต่ละด้านมีความยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร
สิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในวัดเป็นปรางค์ ๓ องค์ ปัจจุบันพังทลายลงเหลือเพียงฐาน ๒ องค์ และสมบูรณ์เพียงองค์ด้านทิศเหนือ
นั้นมีลักษณะของปราสาท ลวดลายปูนปั้นประดับเล่าเรื่องตามพุทธประวัติเหมือนกับที่ปรางค์ที่วัดมหาธาตุลพบุรี และที่ปราสาท
ปาลิไลย์ในเมืองพระนครหลวงของเขมร เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชุมชนที่สุโขทัยมีวัฒนธรรมร่วมกับ
เขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และมีความเกี่ยวข้องกับเมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองใหญ่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมขอมในที่ราบ
ลุ่มแม่น้ำภาคกลาง
     ถัดจากปรางค์ไปทางตะวันออก มีวิหาร มีเจดีย์ทรงเหลี่ยม ประดับทุกด้านด้วยซุ้มพระพุทธรูปลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปคล้ายกับ
เจดีย์ กู่กุดจังหวัดลำพูน ที่เจดีย์นี้มีหลักฐานการก่อสร้างทับซ้อนกันหลายสมัย เช่นมีส่วนเศียรและองค์ตอนบนของพระพุทธรูปปูนปั้น
แบบหมวดวัดตระกวนที่ชำรุดแล้วนำมาบรรจุไว้ในส่วนพระอุระของพระพุทธรูปปูนปั้นแบบสุโขทัยรุ่นหลัง (พระพุทธรูปสุโขทัย
หมวดใหญ่) ซึ่งอยู่ในซุ้มเป็นต้น ปัจจุบันพระพุทธรูปปูนปั้นแบบหมวดวัดตระกวน จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
สุโขทัย
     ทางด้านตะวันออกสุดของกลุ่มโบราณสถาน เป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ ได้แก่ นั่ง นอน ยืน และเดิน ซึ่งเข้าใจ
ว่าน่าจะสร้างในสมัยหลังที่สุดในบรรดาโบราณสถานที่กล่าวมาแล้ว คือ ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย







วัดศรีชุม
     อยู่นอกเมืองโบราณสุโขทัยตรงมุมตะวันตกเฉียงเหนือพอดี สิ่งสำคัญคือมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่เต็มพื้นที่
ภายในอาคาร มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑.๓๐ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่ปรากฏเรียกตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑
ว่าพระอจนะ (ซึ่งอาจมาจากคำว่า อจละ แปลว่า ไม่หวั่นไหว) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้บูรณปฏิสังขรณ์
จากเค้าโครงแกนอิฐเดิมขึ้นใหม่ราวปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ - ๒๔๙๙
      หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย เรียกสถานที่นี้ว่า “ฤาษีชุม” ว่าเป็นสถานที่ที่พระนเรศวร
มาประชุมทัพกันอยู่ที่นั้นก่อนที่จะยกทัพไปปราบปรามเมืองสวรรคโลก
      วัดศรีชุมยังมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุโขทัย คือได้ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๒ ที่เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม เล่าเรื่องราว
ของการก่อตั้งราชวงศ์สุโขทัยของคนไทยกลุ่มหนึ่ง และที่เพดานของช่องผนังดังกล่าวมีภาพลายเส้นเป็นภาพเล่าเรื่องราวพระพุทธเจ้า
ในชาติต่างๆ ที่เรียกว่า ชาดก บางภาพมีลักษณะทางศิลปกรรมคล้ายกับศิลปะลังกา โดยมีอักษรสมัยสุโขทัยกำกับบอกเรื่องชาดกไว้
ที่ภาพแต่ละภาพด้วย







เตาทุเรียงสุโขทัย : เตาเผาสังคโลก
     สังคโลก เป็นชื่อที่มีความหมายถึง เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย ทั้งในเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย เป็นการทำ
เครื่องถ้วยชาม ประติมากรรมหรือส่วนของสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งเคลือบและไม่เคลือบ ที่เคลือบสีต่าง ๆ ได้แก่ สีเขียวไข่กา สีน้ำตาล
สีใสเคลือบทับลายเขียนเป็นรูปต่าง ๆ
     สังคโลกที่เป็นเครื่องถ้วยชาม ยังเป็นสินค้าออกสำคัญของราชอาณาจักรสุโขทัยส่งไปขายยังราชอาณาจักรล้านนา ราชอาณาจักร
ศรีอยุธยา และเมืองหรือรัฐของภาคใต้ และที่ส่งไปขายไกลๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ริวกิว (ปัจจุบันคือเกาะโอกินาวา)
      แหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกที่เมืองสุโขทัย พบอยู่บริเวณคันดินรอบวัดพระพายหลวงด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก
ลักษณะของเตาเผาโบราณมีอยู่ ๒ แบบ แบบแรกเป็นเตากลม มีพื้นเจาะรูเพื่อระบายความร้อนจากช่องใส่ไฟที่อยู่ด้านล่างขึ้นมา
เรียกว่าเตาตะกรับ แบบที่ ๒ มีลักษณะเป็นรูปหลังเต่า มีปล่องระบายความร้อนและช่องไฟอยู่คนละแนวกันเพื่อระบายความร้อน
ในแนวเฉียงนอน เรียกว่าเตาประทุน
     เตาเผาที่สุโขทัยส่วนใหญ่เป็นเตาที่ก่อขึ้นจากอิฐเผาไฟ ไม่ใช่เตาขุดที่ขุดเข้าไปในเนินดินธรรมชาติแบบเตาเผาที่ศรีสัชนาลัย
เพราะในการขุดค้นของกรมศิลปากรพบเตาอิฐนี้ก่ออยู่บนชั้นดินดาน ซึ่งเป็นชั้นดินล่างสุดของสุโขทัย

วัดเตาทุเรียง
     เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณเตาเผาเครื่องสังคโลก เข้าใจว่าคงสร้างขึ้นภายหลังการเลิกผลิตเครื่องสังคโลกในบริเวณนี้แล้ว สิ่งก่อสร้าง
สำคัญ ประกอบด้วย วิหาร และเจดีย์ราย เดิมมีลวดลายปูนปั้นรูปพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย และเหล่าเทพเทวดาล้อมรอบองค์
พระพุทธรูป แต่ปัจจุบันได้หักพังสูญหายแล้ว
     





 

วัดสังฆาวาส
     อยู่ใกล้กับแนวถนนพระร่วง นอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านเหนือ โดยตั้งอยู่ทางตะวันออกของถนน ประวัติของวัดไม่ปรากฏ
วัดนี้มีวิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ แต่พระเศียรหักหายไปแล้ว นอกจากนี้ ก็มีพระอุโบสถและเจดีย์



วัดแม่โจน
      ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดพระพายหลวง ริมถนนสายเมืองเก่า - ดอนโก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานมีบ่อน้ำ
ซึ่งใช้หินชนวนกรุเป็นผนังมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑ เมตร
      โบราณสถานแห่งนี้ ประกอบด้วย วิหารขนาด ๕ ห้อง ฐานกว้าง ๗.๕๐ x ๑๑.๔๕ เมตร ตอนท้ายของวิหารมีเจดีย์ประกอบอยู่
๓ องค์


(จำนวนผู้เข้าชม 2358 ครั้ง)