โบราณสถานนอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านตะวันตก
วัดสะพานหิน
      วัดตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีความสูงกว่าร้อยเมตร ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทางเกือบ
๓๐๐ เมตร สิ่งสำคัญในวัดมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ น่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเมืองสุโขทัย
สมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า “....ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน…” และน่าจะเป็นวัด
ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อรูจาครี เพื่อไปนบพระในวันวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ


 


วัดอรัญญิก
     ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านทิศตะวันตก อยู่ลาดเชิงเขาในป่ากลางอรัญญิก สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย กลุ่มฐาน
กุฏิสงฆ์ใช้สำหรับพระสงฆ์นั่งวิปัสสนาธรรม กุฏิมีขนาดเล็กสำหรับพระสงฆ์เพียงองค์เดียวนั่งวิปัสสนาธรรม ทางเดินปูด้วยหินเชื่อมกัน
ระหว่างพระอุโบสถและวิหารบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมขุดลงไปในศิลาแลงมีน้ำขังตลอดทั้งปี



วัดตระพังช้างเผือก
     ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ลักษณะเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ไม่เห็นรูปแบบชัดเจน แต่พบร่องรอยการก่ออิฐ
และศิลาแลง สันนิษฐานว่าเป็นวิหารขนาดใหญ่
     ด้านทิศใต้มีสระน้ำขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ ๓๐ x ๔๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกของเนินโบราณสถาน มีสระน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้าน
เรียกว่าตระพังช้างเผือก ในหนังสือพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ของรัชกาลที่ ๖ พระองค์ก็ทรงกล่าวถึงวัดตระพังช้างเผือกด้วย
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่ทรงกล่าวถึงศิลาจารึกวัดตระพังช้างเผือก ศิลาจารึกหลักนี้ภายหลังต่อมาศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ
ณ นคร ได้เปรียบเทียบข้อความที่อ่านไว้บ้างเล็กน้อยในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง กับศิลาจารึกที่ไม่ทราบว่าผู้ใดนำมาแต่เมื่อใด
อยู่ที่เขาไกรลาศ สวนซ้าย ภายในพระบรมมหาราชวัง (หลักที่ ๑๐๒) ปรากฏข้อความแสดงว่าเป็นศิลาจารึกหลักเดียวกัน ปัจจุบัน
เรียกว่า จารึกป้านางคำเยีย

วัดช้างรอบ
     ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านทิศตะวันตก สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยม
จัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว มีจำนวน ๒๔ เชือก พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานและมีเจดีย์ราย ๕ องค์ล้อมรอบเจดีย์ประธาน
และโบสถ์




วัดเขาพระบาทน้อย
      อยู่นอกเมืองโบราณสุโขทัยไปด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ สิ่งก่อสร้างสำคัญ ประกอบด้วย เจดีย์ทรงจอมแห มีคูหา
พระพุทธรูป ๔ ทิศ องค์ระฆังมีรอยเป็นริ้วๆ ลักษณะเหมือนการตากแห ซึ่งพบเพียงองค์เดียวในเมืองสุโขทัย
      ด้านหน้าเจดีย์ทรงจอมแห มีวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ๔ รอย (ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง)
นอกจากนี้ยังมีกุฏิสงฆ์สำหรับวิปัสสนา และฐานเจดีย์ศิลาแลงขนาดใหญ่



วัดป่ามะม่วง
      ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงป่ามะม่วง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีศิลาจารึกหลักที่ ๖ ค้นพบในวัดป่า
มะม่วง พูดถึงความสำคัญของวัดนี้ว่า พระมหาธรรมราชาลิไททรงนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชจากเมืองพัน (บริเวณเมาะตะมะ ซึ่งเป็น
เมืองของมอญ) มาที่สุโขทัย มีพิธีการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ แล้วต่อมาพระองค์เองทรงออกผนวชเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๕ และเสด็จ
มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ กลุ่มโบราณสถานประกอบด้วยอุโบสถและเจดีย์ต่างๆ สิ่งโดดเด่นของวัดนี้คือ เสาสูง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะ
เป็นเสาหงส์ตามแบบมอญ




วัดศรีโทล
      วัดนี้มีมณฑปก่อขึ้นจากอิฐเป็นห้องสี่เหลี่ยมมีผนังหนา เพื่อรองรับส่วนบนที่เป็นหลังคาก่ออิฐมีน้ำหนักมาก ตัววิหารเดิมมีส่วนบน
เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เป็นสถานที่สำหรับสาธุชนเข้าไปใช้เพื่อนมัสการพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑป องค์ประกอบทั้งหมด
น่าจะเป็นการจำลองภาพสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระคันธกุฎี หรือกุฎีส่วนพระองค์ในพระอารามแห่งใดแห่งหนึ่ง
โดยมีวิหารสำหรับเป็นสถานที่ให้สาธุชนใช้เป็นที่สักการะพระพุทธองค์ เป็นอาคารที่แยกสัดส่วนต่างหากจากพระคันธกุฎี
      วัดศรีโทลเป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถรผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฏกจากลังกา พระมหาเถรผู้นี้คือผู้ประพันธ์ข้อความสรรเสริญ
พระมหาธรรมราชาลิไท ที่ทรงผนวชเมื่อ พุทธศักราช ๑๙๐๕ ไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๔




วัดตึก
      วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารกล่าวถึงเลย คงมีแต่เฉพาะมณฑปปูนปั้นซึ่งเมื่อราว ๙๐กว่าปีที่แล้วยังสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถ
หาดูได้จากภาพถ่ายเก่าในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
      ลวดลายปูนปั้นประดับอยู่บนผนังของมณฑป เล่าเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์




เทวาลัยมหาเกษตร
      ชื่อ “เทวาลัยมหาเกษตร” พบอยู่ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ของพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งจารึกขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๕ กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไททรงประดิษฐานรูปพระอิศวรและรูปพระนารายณ์ไว้ที่เทวาลัยมหาเกษตรในป่ามะม่วงนี้ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพวกดาบสและพราหมณ์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๑๘๙๒
      รูปพระอิศวรและพระนารายณ์ตามที่กล่าวนี้ เชื่อกันว่าตรงกับกลุ่มประติมากรรมลอยตัวเทวรูปสำริด นุ่งผ้าและสวมเครื่องประดับ
อย่างที่เรียกว่าทรงเครื่อง คือมีเครื่องประดับรัดต้นแขนและรัดเกล้า ปัจจุบันนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและพิพิธภัณ
ฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย
      ตัวโบราณสถานที่ประดิษฐานเทวรูปเหล่านี้ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสผนังก่อด้วยอิฐ ทั้งผนังและเสามณฑปมีขนาดใหญ่
หันหน้าสู่ทิศตะวันออก




วัดเจดีย์งาม
      ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ทางขึ้นวัดปูด้วยหินชนวน จากเชิงเขาด้านทิศตะวันออก
ไปจนถึงลานวัดบนภูเขา
      กลุ่มโบราณสถานสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานชั้นล่างมีซุ้มพระพุทธรูปทั้ง ๔ ด้าน
ฐานพระวิหารก่อด้วยศิลาแลงปูด้วยหิน กุฏิสงฆ์สำหรับวิปัสสนาธรรมมีทั้งก่อด้วยอิฐและหิน สระน้ำขุดลงไปในศิลาแลง


วัดถ้ำหีบบน
      ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ กลุ่มโบราณสถานสำคัญประกอบด้วย พระวิหารก่อด้วยศิลาแลง เจดีย์ทรงระฆัง กุฏิสงฆ์สำหรับ
วิปัสสนาธรรม ๒ แห่ง ก่อด้วยอิฐ


วัดถ้ำหีบล่าง
      ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ใกล้กับวัดถ้ำหีบบน โบราณสถานมีลักษณะเด่นคือ ส่วนใหญ่สร้างด้วยหินและศิลาแลง เช่นเจดีย์ประธาน
ทรงระฆังก่อด้วยหิน พระวิหารก่อด้วยหิน ทางเดินปูด้วยหินจากเชิงเขาจนถึงลานวัด


วัดเขาพระบาทใหญ่
      อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนเขาพระบาทใหญ่ติดกับสรีดภงส์ โบราณสถานประกอบด้วยซากวิหารก่อด้วยอิฐ
และหิน วัดเขาพระบาทใหญ่เคยเป็นที่ประดิษฐานรอบพระพุทธบาทจำลองเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๒ ปัจจุบันนำมาประดิษฐานที่วัด
ตระพังทอง (ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย)


สรีดภงส์
      ทิศตะวันตกของเมืองโบราณสุโขทัย มีเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวยาวเป็นฉากหลัง และเป็นพื้นที่รับน้ำที่สามารถรองรับน้ำฝน
ได้อีกด้วย จากความชาญฉลาดของคนสุโขทัยในอดีต จึงรู้จักสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างหุบเขากิ่วอ้ายมาถึงเขา
พระบาทใหญ่ อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณหุบเขาถึง ๑๗ โซก เป็นคันดินสำหรับกักเก็บน้ำ ที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือ
สรีดภงส ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดังข้อความต่อไปนี้ “….เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้ มีกุฏิ พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่า
พร้าวป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ …”
      น้ำจากสรีดภงส์ถูกระบายไปตามคลองเสาหอเพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคในเมือง โดยระบายเข้าสู่เมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงใต้
เมื่อใช้สอยในเมืองแล้วก็ไหลออกไปลงน้ำแม่รำพัน ไหลรวมลงแม่น้ำยมต่อไป


 

 

(จำนวนผู้เข้าชม 2377 ครั้ง)