วัดนางนองวรวิหาร ตั้งอยู่ ณ แขวงบางค้อ  เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลอง สนามชัยหรือคลองด่าน ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า วัดนางนองนั้น ตั้งอยู่ในย่านข้าหลวงเดิม (สมัยก่อนเรียกบางขุนเทียน) หรือหลักแหล่งเครือญาติ และข้ารับใช้รัชกาลที่ ๓ ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ ดังพบวัดต่าง ๆ ในละแวกเดียวกัน ได้แก่ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร และวัดหนัง ๓  เดิมบริเวณนี้เป็นชุมชนเก่าแก่เรียก นางนอง หรือบางนางนอง  วัดแห่งนี้ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวรัชสมัยของสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ ๘ (ขุนหลวงสรศักดิ์) หรือพระเจ้าเสือ (ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๕ - ๒๒๕๑) ดังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีหรือโคลงกำสรวลสมุทร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อและปฏิสังขรณ์พระอารามใหม่ทั้งหมด และสร้างอาคารพระอุโบสถและพระวิหารคู่ตามแบบศิลปกรรมพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ 

          โบราณวัตถุสถานสำคัญ
          
๑.พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด หันหน้าลงสู่คลองสนามชัย (คลองด่าน) ซึ่งแตกต่างไปจากคติของการสร้างอุโบสถโดยทั่วไปที่มักหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก มีขนาดกว้าง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซุ้มประตูทางเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถทำเป็นยอดโค้งแหลมแสดงอิทธิพลศิลปะจีนผสมฝรั่ง หน้าบันของซุ้มประตูทางเข้าตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพนมบนพื้นหลังสีน้ำเงิน  หลังคาพระอุโบสถเป็นทรงจั่วแหลมสูงซ้อนกัน ๒ ชั้น ๓ ตับ ประกอบด้วย ผืนหลังคาหลักทางด้านยาวและหลังคาพาไลมุงกระเบื้องราง หน้าบันที่ตับที่ ๑ และ ๒ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นภาพดอกไม้ร่วง
             

รุูปพระอุโบสถ


          ผนังก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๕ ช่วงเสาใช้กำแพงและเสาระเบียงรับน้ำหนักหลังคา ระเบียงมีพนักเตี้ยกรุด้วยกระเบื้องปรุเคลือบสีแบบจีน ประตูทางเข้าที่ด้านสกัดด้านละ ๒ ประตู บานประตูลงรักประดับมุกแผ่น เขียนลายทองเป็นรูปเครื่องมงคลจีนต่าง ๆ ซุ้มและกรอบประตูประดับด้วยปูนปั้นปิดทองประดับกระจกเป็นลายเทศ หรือลายที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมกับรสนิยมแบบจีน  บริเวณขอบผนังประตูด้านนอกเป็นลายกำเนิดรัตนะที่มาแห่งอัญมณีอันมีค่าที่สัมพันธ์กับเรื่องราวของพระจักรพรรดิราช  หน้าต่างด้านละ ๕ ช่องตกแต่งหน้าบานด้วย ลายรดน้ำปิดทอง ซุ้มและกรอบหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นปิดทองประดับกระจกลายเทศเช่นเดียวกับบานประตู ฐานพระอุโบสถรับผนังเป็นฐานสิงห์ลูกแก้ว ส่วนระเบียงและพาไลเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายมีบันไดทางขึ้นด้านละ ๒ ฝั่ง พนักบันไดประดับด้วยรูปจำหลักหินสิงโตขนาดย่อมอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม
         ภายในอาคารพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธมหาจักรพรรดิ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบหล่อด้วยสำริดลงรักปิดทองเครื่องทรงทุกชิ้นสามารถถอดแยกได้  พระพักตร์อย่างพุทธศิลป์สุโขทัย หน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๒๕ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีประดับลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก  นอกจากนี้ ผนังเขียนภาพจิตรกรรม เป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณีเล่าเรื่องท้าวมหาชมพูบริเวณเหนือกรอบหน้าต่าง และภาพกำมะลอเรื่องสามก๊กที่เขียนเล่าเรื่องแบ่งออกเป็นตอน ๆ ในช่องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบริเวณผนังระหว่างบานประตูและบานหน้าต่างทั้ง ๔ ด้าน ส่วนผนังระหว่างกรอบประตูทั้ง ๒ ด้านประดับลวดลายมงคลอย่างจีน ได้แก่ รูปฮก ลก ซิ่ว ที่ผนังสกัดทางหน้าของพระพุทธรูปประธาน และลวดลาย นกกระเรียน ที่ผนังสกัดด้านหลัง
           


รูปพระพุทธมหาจักรพรรดิ

          ๒. เจดีย์ประธาน  เจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่กึ่งกลางวัดด้านหน้าพระอุโบสถ จากลักษณะของเจดีย์ประธานสามารถเทียบเคียงได้กับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เช่น เจดีย์ประธานวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม
          ๓. พระวิหารคู่ (ทิศเหนือและทิศใต้) เป็นอาคาร ๒ หลังตั้งขนานกันบริเวณหน้าวัด พระวิหารมีขนาดกว้าง ๕ ช่วงเสา มีหลังคาปีกนกล้อมรอบระเบียงรับด้วยเสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หลังคาพระวิหารทิศเหนือเป็นหลังคาทรงจั่วลดชั้นหน้า-หลัง ซ้อนชั้น ๓ ตับ แต่พระวิหารด้านใต้ซ้อน ๒ ตับ หน้าบันของอาคารมีลักษณะแบบปิดหรือทึบตัน  หน้าบันทั้งตับที่ ๑ ตกแต่ง ด้วยกระเบื้องเคลือบอย่างประณีตเป็นภาพหงส์และมังกร ส่วนตับที่ ๒ เป็นภาพทิวทัศน์ และสถาปัตยกรรมแบบจีนหรือถะ ส่วนหน้าบันของพระวิหารหลังทิศใต้ตกแต่งเป็นลายมังกรคู่กำลังเล่นลูกไฟ ประกอบเครื่องมงคลจีนต่าง ๆ กัน  ภายในพระวิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูป “หลวงพ่อผุด” ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย โดยตั้งอยู่ด้านหน้า “หลวงพ่อผาด” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธานองค์เดิม พระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นั้น เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่บนฐานสิงห์ ลักษณะทางประติมากรรม และการจัดวางประดิษฐานเทียบได้กับพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำให้เชื่อว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอุโบสถหลังเก่าหลังนี้ให้เป็นวิหารในรัชกาลที่ ๓ ฝ้าเพดาน ภายในวิหารหลังนี้ทาสีแดง ส่วนในพระวิหารทิศใต้ ประดิษฐานพระประธานขนาดเล็กปางมารวิชัย ห่มจีวรลายดอก อันเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงสันนิษฐานว่าได้หล่อขึ้นใหม่ เพื่อประดิษฐานในพระวิหารโดยเฉพาะ พระวิหารแต่ละหลังล้อมด้วยกำแพงแก้วเตี้ย ๆ มีปรางค์จำลองขนาดเล็กที่มุมกำแพง บริเวณด้านหลังของพระวิหารก่อปรางค์หกเหลี่ยมยกเก็จคร่อมอยู่บนกำแพงแก้ว  
          นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ ศาลารับเสด็จ ศาลาเก๋งจีน หมู่กุฏิสงฆ์และหอระฆัง 

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๐

 

(จำนวนผู้เข้าชม 34 ครั้ง)