วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ตั้งอยู่ ณ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร วัดอัปสรสวรรค์เดิมชื่อว่า"วัดหมู" อยู่ในกลุ่มวัดบริเวณปากคลองด่านมีวัดปากน้ำทางตอนเหนือและวัดนางชีทางตอนใต้ และวัดขุนจันทร์ที่อยู่คนละฟากฝั่งคลอง วัดส่วนใหญ่ในย่านนี้เป็นวัดที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ประกอบกับชุมชนละแวกนี้ก็มีการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นมาตั้งแต่อดีต ตามประวัติกล่าวว่าสร้างโดย “จีนอู๋” แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ขัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ซึ่งเป็นพระธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ได้สถาปนาวัดนี้ขึ้นมาใหม่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับอุปการะในการบูรณปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอัปสรสวรรค์” ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระฉันสมอมาประดิษฐานที่วัดด้วย ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๓ จ.ศ. ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ทรงพระกรุณาให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองวัดอัปสรสวรรค์
          การจัดแผนผังของวัดอัปสรสวรรค์พบว่า มีการกำหนดผังโดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และพื้นที่อเนกประสงค์ โดยเขตพุทธาวาสจะตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดด้านทิศตะวันออก ประกอบด้วยพระอุโบสถ พระวิหาร และพระมณฑปล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว นอกกำแพงแก้วมีพระปรางค์ใหญ่ ๑ องค์และศาลาท่าน้ำ ๒ หลัง ส่วนเขตสังฆาวาส โอบล้อมเขตพุทธาวาสทั้งสามด้าน ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญ ๒ หลัง ทางด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งหอไตรและหอระฆัง ทางด้านทิศตะวันตกเคยเป็นสระน้ำก่อนปรับเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ส่วนด้านทิศใต้เป็นศาลาสำหรับสวดอภิธรรมศพ 

          โบราณวัตถุสถานสำคัญ
          พระอุโบสถ และพระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะในพระราชนิยมรัชกาลที่ ๓ หรือ ศิลปะแบบนอกอย่างตั้งขนานกัน  เป็นอาคารทรงโรงขนาด ๕ ห้องมีเสาพะไลและราวระเบียงประดับกระเบื้องปรุล้อมรอบ วางตัวอาคารในแนวตะวันออก – ตะวันตก หันหน้าอาคารไปทางด้านทิศตะวันออกสู่คลองด่าน ผนังของพระอุโบสถและพระวิหารเจาะช่องหน้าต่าง ๕ ช่องมีลายปูนปั้นเป็นกรอบซุ้มหน้าต่าง ส่วนผนังด้านสกัดหน้าและหลังทำประตูเข้า - ออก ด้านละ ๒ บาน มีบันไดทางขึ้น - ลง สู่ภายในอาคาร  หน้าบันพระอุโบสถตกแต่งด้วยงานปูนปั้นประดับด้วยเครื่องเคลือบเป็นรูปทิวทัศน์ในแบบศิลปะจีน ที่ประกอบด้วยรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ ภูเขาหิวเขา บุคคล สัตว์ ดอกไม้ ถะ(จดีย์ ศิลปะจีน) แม่น้ำ เป็นต้น ส่วนหน้าบันพระวิหารตกแต่งเป็นภาพทิวทัศน์ลายมงคลตามคติความเชื่อของชาวจีน โดยตรงกลางสันของจั่วเป็นรูปพระอาทิตย์ ถัดลงมาเป็นรูปนกแก้ว ๒ ตัวยืนอยู่เหนือก้อนเมฆ ถัดลงมาเป็นรูปไก่ที่ยืนอยู่บนภูเขามีเครื่องหมายหยิน - หยางสัญลักษณ์ในลัทธิเต๋า เลื่อนลงมาเป็นรูปทิวเขาที่ประดับด้วยถะ (เจดีย์จีน) มีรูปไก่ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้และกิ่งผลไม้มงคล ด้านล่างตรงกลางจำลองเป็นรูปสระน้ำมีปลา ๒ ตัวในสระน้ำ
          



รูปพระอุโบสถ

          ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานรูปอดีตพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์บนฐานชุกชีเดียวกัน จัดวางลดหลั่นเป็นทรงจอมสูง ที่ฐานของพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละองค์จะมีป้ายจารึกนามของแต่ละพระอดีตพุทธเจ้าเริ่มตั้งแต่พระอดีตพุทธตันหังกโรซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดจอมลงมาเป็นลำดับจนถึงพระศากยโคดมซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ส่วนภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ๒ องค์ สูง ๓ ศอก หน้าตักกว้าง ๓ ศอก  ส่วนอีกองค์หนึ่งสูง ๕ ศอก หน้าตักกว้าง ๔ ศอก และมีรูปปั้นของนางสุขาดากำลังถวายข้าวมธุปายาส
          อนึ่ง การทำรูปพระอดีตพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์วรวิหารแห่งนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อที่นิยมมากในกลุ่มชาวพม่าและมอญ ดังที่ปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังรูปอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ องค์ ในวัดที่ชาวมอญสร้าง เช่น วัดชมพูเวก จ. นนทบุรี , วัดคงคาราม จ.ราชบุรี และวัดไทรอารีรักษ์ จ.ราชบุรี เป็นต้น รูปอดีตพระพุทธเจ้าเหล่านี้ไม่ค่อยพบรูปแบบการสร้างพระประธานเช่นนี้ตามพระอุโบสถทั่วไป อันแสดงให้เห็นถึงการคิดค้นรูปแบบใหม่อย่างแท้จริงในสมันรัชกาลที่ ๓ ตลอดจนการสร้างพระอดีตพุทธเจ้านี้เป็นพระราชประสงค์หนึ่งของรัชกาลที่ ๓ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระราชวงศ์ตามคติพระโพธิสัตว์ ดังมีหลักฐานระบุในพระราชปุจฉาเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับพระราชประเพณีในการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์ในอดีต ทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศให้กับเจ้าจอมน้อยผู้ปฏิสังขรณ์วัดด้วย

         หอพระไตรปิฎก สันนิษฐานว่าหอพระไตรปิฎกนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓  สร้างอยู่กลางสระน้ำตามแบบอย่างของหอไตรในสมัยโบราณ และน่าจะเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังรักษารูปแบบไว้ได้เป็นอย่างดี จัดเป็นอาคารแบบไทยประเพณี หลังคาทรงจั่วลดชั้นหน้าบัน เรือนของหอไตรมีระเบียงกั้นพนักล้อมทั้งสี่ด้านมีเฉลียงรอบ และมีหลังคาพาไลคลุมโดยรอบ ส่วนของผนังเรือนด้านหน้ามีประตูทางเข้าที่มีซุ้มประตูทรงบรรพแถลง ผนังด้านข้างเป็นหน้าต่าง ๒ ช่อง ประดับซุ้มทรงปราสาหยอด ซึ่งซุ้มหน้าต่างทรงปราสาทยอดประดับตกแต่งด้วยเครื่องไม้กึ่งลอยตัววิจิตรงดงามอย่างมาก งานประดับตกแต่งที่สำคัญที่ได้รับการยกย่องคือ การประดับกระจกเกรียบหลากสีเต็มพื้นที่ฝาผนังและเสาระเบียง เป็นลายดอกไม้สี่กลีบในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นหอไตรอย่างไทยประเพณีที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์หาได้ยาก และน่าจะเหลือเพียงหลังเดียวในกรุงรัตนโกสินทร์  สำหรับภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนังเขียนที่คอสองเป็นเรื่องทศชาติ

       



รูปหอพระไตรปิฎก

          มณฑปประดิษฐานพระปางฉันสมอ (องค์จำลอง) มณฑปเป็นอาคารทรงปราสาทยอด มีส่วนฐานสิงห์ยกสูง ส่วนเรือนธาตุเป็นช่องโปร่งแบบบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นเข้าไปภายในได้ พระฉันสมอซึ่งประดิษฐานในมณฑป กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์พร้อมกับพระบางและพระแซกคำ  สำหรับพระปางฉันสมอนั้นในพุทธประวัติคือตอนพระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขสัปดาห์ที่ ๗ ซึ่งทรงรับผลสมอจากพระอินทร์  ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าว่า จากพุทธศิลป์ซึ่งผสมผสานศิลปะล้านนาแต่ครองจีวรแบบพระพุทธรูปจีนรวมทั้งการแสดงปางรับผลสมอไม่เคยปรากฏในศิลปะล้านมาและศิลปะล้านช้างจึงน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แล้ว

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๔ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๐



 

(จำนวนผู้เข้าชม 21 ครั้ง)