วัดม่วง ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
           วัดม่วง ตั้งอยู่เลขที่ ๔๘ หมู่ ๕ ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สังกัดสงฆ์คณะมหานิกาย มีที่ดิน ๑๖ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา
ตั้งอยู่ที่ราบลุ่ม ในเขตพื้นที่ชุมชน ด้านทิศเหนือติดกับพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนด้านทิศใต้
ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดกับชุมชน
          ประวัติการสร้างวัดม่วง  ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน  ทราบแต่เพียงคำบอกเล่าว่า วัดม่วงนี้หม่อมเจ้าเกษร
ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับเจ้าพระยาภูธราภัย (บุตร  บุญรัตน์) ที่สมุหานายกสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเขาดิน (วัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพถาราม) แล้วจึงถวายเป็น
พระอารามหลวง ส่วนวัดม่วงนี้หม่อมเจ้าเกสร  ผู้ปฏิบัติปรารถนาจะถวายเป็นพระอารามหลวงในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ ๕  เช่นกัน    แต่ภายหลังการปฏิสังขรณ์วัดม่วงแล้วเสร็จ หม่อมเจ้าเกสร  ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏจึงไม่ได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ทั้งนี้ชื่อวัดม่วงน่าจะเรียกตามหมู่บ้านที่ตั้งวัด  ซึ่งเรียกว่าบ้านม่วงมาแต่เดิมก่อนที่จะมีการสร้างวัด
          จิตรกรรมภายในวิหาร เขียนขึ้นทั้งหมด ๔ ด้าน เป็นเทคนิคจิตรกรรมเขียนสีฝุ่นบนรองพื้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ในสมัยรัชการที่ ๕ เป็นภาพเรื่องราวของพระพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ และปริศนาธรรม ตลอดจนสอดแทรกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน เป็นศิลปะแบบจิตรกรรมไทยประเพณีผสมผสานกับศิลปะแบบตะวันตกในบางส่วน (อิทธิพลของอารยธรรมต่างชาติหรือที่เรียกว่าแบบสมัยใหม่ ในรัชกาลที่ ๕)  แต่ยังคงเขียนตามคติประเพณีนิยมแบบโบราณ เช่น การเขียนไตรภูมิด้านหลังพระประธาน มารจญอยู่ด้านหน้า เทพชุมนุมอยู่บน ต่อด้วยพระพุทธประวัติ ถัดลงมาระหว่างหน้าต่างเขียนทศชาติชาดก การเรียงลำดับภาพได้วางภาพให้เรียงติดต่อกันโดยลำดับตลอดผนังทั้ง ๓ ด้าน การเขียนกษัตริย์ ปราสาท ราชรถ เป็นไปอย่างระเบียบแบบแผนตามประเพณีของช่างไทยโบราณ 
ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร
ช่างภาพ : ว่าที่ร้อยตรี ธวัชชัย รามนัฏ

จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตก (ผนังด้านหลังพระประธาน) เขียนภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ      


จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันออก(ผนังด้านหน้าพระประธาน) เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ


จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศใต้(ผนังด้านขวาพระประธาน)
ช่วงบนเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ
ช่วงล่างระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดก


จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศเหนือ(ผนังด้านซ้ายพระประธาน)
ช่วงบนเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ช่วงล่างระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดก

(จำนวนผู้เข้าชม 3425 ครั้ง)