การบูรณะวิหารพระนาก วัดจักรวรรดิ์
บทความทางวิชาการ " การบูรณะวิหารพระนาก วัดจักรวรรดิ์"
วิหารพระนาก วัดจักรวรรดิ์ สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เดิมเป็นวิหารหรือหอพระที่ประดิษฐานพระบางเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้อัญเชิญมาจากนครหลวงเวียงจันทร์
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานพระบางกลับไปประดิษฐานที่นครหลวงพระบาง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนาก จากหอพระในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกันมาประดิษฐานไว้ในวิหารแทน จึงเรียกวิหารหลังนี้ว่า วิหารพระนาก
วิหารพระนากมีความพิเศษหลายประการที่พบไม่บ่อยนักในอาคารในรุ่นราวคราวเดียวกัน อาทิเช่น การตกแต่งผนังภายนอกด้วยงานจิตรกรรมลายแผงหรือลายแย่งแบบราชวัตร (ลายตาราง) ซึ่งมีลักษณะเป็นดอกพุดตานก้านแย่งจากดอกตูมออกไปทั้งสี่ทิศ ตัวลายสีเหลืองถมพื้นดำ คล้ายกับทำให้ดูเหมือนเป็นการตกแต่งด้วยลายทอง อย่างไรก็ตามการตกแต่งผนังภายนอกดังกล่าวนี้เป็นงานที่เขียนขึ้นใหม่ในยุคหลัง แต่ยังคงรูปแบบลวดลายตามอย่างของเดิม
ซุ้มประตู-หน้าต่าง ปั้นปูนเป็นลายดอกพุดตานปิดทอง ตัวบานเขียนด้วยลายทองสอดสีรูปมังกร สิงโต และสัญลักษณ์มงคลในวัฒนธรรมจีน ซึ่งถือเป็นงานศิลปกรรมชิ้นสำคัญของวิหารแห่งนี้
การตกแต่งหน้าบันด้วยลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบลายคราม แสดงเรื่องราวของแม่กาเผือกซึ่งเป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ และยังเป็นตำนานที่มีอิทธิพลมากในแถบล้านช้างและล้านนา
การทำช่องซุ้มประดับประทีป ซึ่งอาจพบเจอได้บ้างในวิหารที่อื่นๆ เช่น วัดไพชยนต์พลเสพย์ เป็นต้น แต่ช่องซุ้มประดับประทีปที่วิหารพระนากนี้ หากนับดูจะได้เท่ากับ ๒๔ ช่อง ซึ่งทำให้นึกไปถึงอดีตพุทธทั้ง ๒๔ พระองค์
การตกแต่งพนักบันไดด้านหน้าด้วยลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบลายคราม เป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของพุทธประวัติตอนมารผจญ ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่ปรากฏการการนำเรื่องราวดังกล่าวมาแสดงภายนอกอาคาร
นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการเขียนลายทองรูปดอกไม้ที่กรอบช่องเปิดพาไล (กรอบหน้าต่างแนวผนังรอบนอก) ซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ที่สำคัญคาดว่าวิหารพระนาก หรือวิหารพระบางหรือหอพระบางเดิม อาจมีหน้าต่างตรงกรอบช่องเปิดพาไล (กรอบหน้าต่างแนวผนังรอบนอก) เนื่องจากพบว่าไม้กรอบพาไลบางส่วนมีร่องเดือย และร่องรางรับบาน
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 4 : วัดสาคัญกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525). 217-218
ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. “พระบาง” จากลาวสู่สยาม มาเพราะ “การเมือง” ส่งกลับเพราะ “ความเชื่อ”, ใน ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับมกราคม 2556.
อมรรัตน์ จริงวาจา. จิตรกรรมลายแผงสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 : วิเคราะห์ที่มารูปแบบและพัฒนาการ, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2560.
http://gis.finearts.go.th/fineart/ วัดจักรวรรดิราชาวาส
เรียบเรียง
ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี
เอื้อเฟื้อข้อมูล
พงศธร เหียงแก้ว
ศุภกิจจ์ เสถียรอินทร์
เรียบเรียง
ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี
(จำนวนผู้เข้าชม 3944 ครั้ง)