...

โบราณสถานวัดตระพังทองหลาง

























- โบราณสถานวัดตระพังทองหลาง -
.
 โบราณสถานวัดตระพังทองหลางหรือโบราณสถานร้าง ต.อ.๑๓ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก โดยอยู่ห่างจากประตูกำแพงหักหรือประตูเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันออกไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑ กิโลเมตร และอยู่ทางตอนใต้ของวัดต้นมะขามทางทิศใต้ของถนนจรดวิถีถ่อง ออกไปประมาณ ๓๐๐ เมตร บริเวณใกล้กันนี้มีวัดซึ่งมีพระสงฆ์ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ด้วย  
.
วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าสร้างขึ้นในสมัยใด  เป็นวัดขนาดกลาง  แต่มีความสำคัญมากในแง่ของสถาปัตยกรรมและประติมากรรม  ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญคือ  มณฑปประกอบวิหาร เจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบ และอุโบสถ(โบสถ์)อยู่ทางตะวันออก  วัดนี้ไม่มีเจดีย์ประธาน แต่ใช้มณฑปทำหน้าที่เสมือนเป็นเจดีย์ประธาน อันเป็นลักษณะเฉพาะแบบหนึ่งของการสร้างวัดที่สุโขทัย
.
 มณฑปก่อด้วยอิฐ เป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันชำรุดมากแล้ว  ด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู อีกสามด้านเป็นผนังที่ประดับด้วยปูนปั้น เป็นเรื่องตามพุทธประวัติ  สภาพชำรุดแต่จากหลักฐานที่บันทึกเป็นภาพถ่ายเก่าทำให้ทราบเรื่องราวได้ว่า
.
 - ผนังด้านเหนือ เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคีรี โดยปั้นรูปพระพุทธองค์ประทับยืนเคียงข้างด้วยอัครสาวกคือ พระอานนท์ ที่ปลายพระบาทของพระพุทธเจ้ามีร่องรอยให้ทราบว่าเป็นหัวเข่าช้าง ซึ่งคุกเข่ายอมแพ้พระพุทธเจ้า
.
 - ผนังด้านใต้ เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรคชั้นดาวดึงส์ ภายหลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ปั้นรูปพระพุทธเจ้าในท่าลีลา (เดิน) มีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าทวยเทพตามส่งเสด็จ  ได้มีการถอดพิมพ์ภาพปูนปั้นนี้ขณะที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย
.
 - ผนังด้านตะวันตก เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าโปรดเทศนาสั่งสอนพวกศากยวงศ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ขณะทรงสั่งสอนทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นรูปรัศมีเปลวไฟล้อมรอบพระองค์ และมีรูปบรรดาพระญาติแวดล้อมอยู่ภายนอกรูปรัศมีนั้น
.
 บรรดาภาพปูนปั้นเหล่านี้แสดงถึงลักษณะศิลปะสุโขทัยที่เจริญสูงสุด หรือที่เรียกว่ายุคทองของศิลปะสุโขทัย ซึ่งอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐

(จำนวนผู้เข้าชม 3125 ครั้ง)